นี่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนที่ใช้อยู่ แต่สำหรับผู้ที่เข้ามาศึกษารถไฟฟ้าได้ไม่นาน นี่เป็น 5 ข้อที่สำคัญ ที่คนขาย (อาจ) ไม่ได้บอก และควรจะรู้ไว้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนการเลือกซื้อรถไฟฟ้าครับ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง ( ไม่มีเวลาอ่าน ดูเป็นคลิปได้ที่นี่ครับ https://bit.ly/3UhVeQx )
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคนใช้รถไฟฟ้าบ่นว่า วิ่งจริงไม่เห็นตรงกับที่โฆษณาเลย อันที่จริงที่เป็นแบบนี้เพราะว่า ระยะวิ่งใน brochure ส่วนใหญ่เป็นมาตรฐาน NEDC ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ไม่ตรงตามการใช้งานจริง ซึ่งผู้ผลิตนิยมใช้ เพราะจะได้ตัวเลขที่ดูมาก ดังนั้นในการหาระยะวิ่งที่ใกล้เคียงความจริงที่สุดให้เอา NEDC x 0.7 เช่น 620 กม. NEDC วิ่งจริงเหลือ 620 x 0.7 = 434 กม. เป็นต้นครับ อ่านเพิ่มได้ที่นี่ ( https://bit.ly/3hP8fAE )
หรือดูคลิปได้ที่นี่ https://bit.ly/4c6eOoU
รถไฟฟ้ามีอัตราเร่งดีก็จริง แต่ไม่เหมาะจะวิ่งด้วยความเร็วสูง เพราะเมื่อมอเตอร์ทำงานในรอบสูง จะกินพลังงานมากขึ้น ในการวิ่ง 100 กม/ชม.กับ 120 กม/ชม. อาจจะกินไฟต่างกัน 20-30% เลยทีเดียวครับ (หรือ 90-120 กม/ชม. อาจต่างกันได้ 30-40%) นั่นก็หมายความว่า ระยะวิ่งขณะวิ่ง 120 กม/ชม. ก็จะลดลงไปด้วยครับ ดังนั้น 434 กม. อาจจะเหลือ 434 x 0.8 = 347 กม.เท่านั้นครับ
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า ในการเดินทางไกล เราจะไม่ใช้จนหมด 0% แต่มักจะเหลือ 10-20% ก่อนชาร์จ และเมื่อชาร์จ DC ก็มักจะชาร์จถึงแค่ 80% เพราะการชาร์จจาก 80-100% มักจะใช้เวลานานมาก นานพอ ๆ กับ 20-80% หรือนานกว่า เช่น 20-80% ใช้ 30 นาที 80-100% ก็อาจจะต้องรออีก 30-40 นาที ดังนั้นจึงไม่คุ้มที่จะรอเท่าไร ทำให้ส่วนใหญ่มักชาร์จแค่ 80-85% เท่านั้นครับ ซึ่งจาก 10-80% หรือ 15-85% ก็คือ 70% Range นั่นเองครับ ด้วยเหตุนี้ระยะวิ่ง 434 กม. ก็จะเหลือ 434 x 0.7 = 304 กม.เท่านั้นครับ หรือคิดง่าย ๆ ว่า NEDC / 2 เลยก็ใกล้เคียงกันครับ
ดูคลิปได้ที่นี่ https://bit.ly/3WzIzbQ
มาจนถึงตอนนี้ แต่ละปัจจัยมีผลต่อระยะวิ่งทั้งนั้น ไม่ว่าจะเดินทางไกล หรือการขับเร็ว สรุปเร็ว ๆ ได้ดังนี้ครับ รถที่ขับได้ 620 กม. NEDC วิ่งจริงได้ 620 x 0.7 = 434 กม. วิ่ง 70% Range เหลือ 304 กม. ขับ 120 กม/ชม. ระยะลด 304 x 0.8 = 243 กม. ก็ต้องแวะชาร์จละครับ ดังนั้นเราอาจจะต้องดูการใช้งานของเรา ว่ารับได้กับตัวเลขเหล่านี้หรือไม่ (ตัวอย่างเหล่านี้เป็นการขับแบบเท้าหนัก ใครเท้าเบา ก็อาจจะได้ระยะวิ่งมากกว่านี้ครับ) แต่ในตัวอย่างนี้ ส่วนตัวผมว่าไม่แย่ครับ เพราะเป็นระยะที่วิ่งได้เต็ม ๆ จริง ๆ ไม่ต้องเผื่ออะไรครับ
ตัวเลขนี้มักจะมาจากตู้ที่มีสเปคเฉพาะของผู้ผลิต แต่หากใช้งานตู้ทั่วไป อาจจะยากที่จะได้ตามนี้ครับ และมีผู้ผลิตน้อยรายที่จะบอกความจริงตรงนี้ แต่ผมมีตัวอย่างโบรชัวร์ที่ดีครับคือ Volvo EX30 บอกอย่างชัดเจนว่า SOC 10-80% เมื่อชาร์จกับตู้ 153 kW จะใช้เวลา 28 นาที ถ้าชาร์จกับตู้ 50 kW จะใช้เวลา 56 นาที ซึ่งตู้ที่เราเห็นส่วนใหญ่ในไทย มักจะเป็นตู้ 50-120 kW ซึ่งก็จะใช้เวลาประมาณ 40-50 นาที ครับ แต่ถ้าชาร์จสองคัน กำลังแบ่งกันก็อาจจะต่ำกว่า 50 kW ได้อีก เรียกว่ารอเป็น ชม.เลยครับ
ส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจว่ายิ่งตัวเลขมาก ก็จะชาร์จเร็ว แต่ในความเป็นจริง ตัวเลขนี้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกได้ว่าคันนี้ชาร์จเร็วหรือไม่ เพราะ
ตัวเลขนี้บอกแค่ว่า เราชาร์จได้กำลังสูงสุดเท่าไร ไม่ได้แปลว่าจะได้ตัวเลขนี้ “ตลอดการชาร์จ”
รถบางรุ่นได้กำลังสูงสุดแค่ 2 นาที บางรุ่นอาจจะได้ยาวถึง 10 นาที ตัวเลขนี้จึงบอกไม่ได้ว่าคันไหนชาร์จเร็วกว่ากัน ดังนั้นค่าที่สำคัญกว่าก็คือค่าเฉลี่ยตลอดการชาร์จ ยิ่งเลขมาก ก็ยิ่งชาร์จได้เร็วกว่า รถที่มีการชาร์จที่ดี มักชาร์จที่ความเร็วสูงได้นาน เพราะจะได้ค่าเฉลี่ยที่สูงตลอดการชาร์จครับ หากเราเอามา plot graph จะได้เป็นเส้นตรง หรือ Flat Curve นั่นเอง แต่น่าเสียดายที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่ ไม่มีกราฟให้ ทำให้ข้อมูลส่วนนี้ต้องรอข้อมูลจากภายนอกครับ อ่านเรื่องกราฟที่นี่ ( https://bit.ly/3hPo4az )
มีตัวเลขอีกค่าที่ค่อนข้างสำคัญต่อความเร็วในการชาร์จ แต่มักจะไม่มีเขียนในโบรชัวร์ก็คือ "แรงดัน" หรือ Voltage ของแบตเตอรี่ครับ
สมมุติว่ารถเรารับได้ 150 kW มาชาร์จตู้ 120 kW จะได้กำลังเท่าไร?
รถเรารองรับตั้ง 150 kW คำตอบควรจะเป็น 120 kW สิ?
แต่ความจริง อาจจะไม่เป็นแบบนั้นครับ เพราะกำลังในการชาร์จขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ แรงดันแบต (V) และกระแส (A) ของตู้ชาร์จ โดย
หากรถเรามีแรงดันแบต 380V ไปชาร์จตู้ 120 kW ที่จ่ายกระแสสูงสุดได้ 200A (ก้มไปดูข้างตู้) จะได้กำลังชาร์จ
380V x 200A = 76000 W หรือ 76 kW
ซึ่งไม่สำคัญว่ารถเราจะรับกำลังสูงสุดได้เท่าไร แต่มาชาร์จตู้ 120 kW 200A ยังไงก็จะได้ไม่เกินเท่านี้!
แต่ถ้ารถเรามีแรงดัน 600V ล่ะ
600V x 200A = 120000 W หรือ 120 kW
เราจะได้เต็มกำลังตู้ต่อเมื่อแบตเรามีแรงดัน 600V ดังนั้น Voltage จึงมีความสำคัญกับกำลังในการชาร์จ และจะทำให้เราชาร์จได้เร็วครับ
แต่ถ้าใครเลือกรถที่ Voltage ต่ำ เราก็จะต้องเลือกตู้ที่จ่ายกระแสได้สูงแทน เช่น ตู้ 120 kW 400A
380V x 400A = 152,000 W หรือ 152 kW แต่ตู้ max ที่ 120 kW เราก็จะได้ 120 kW เต็มกำลังตู้ครับ
ตัวอย่างตู้ 120 kW 200A ก็คือ EV Pluz ส่วนใหญ่ครับ ส่วนตู้ 120 kW 400A คือตู้ ABB ของ Elexa ครับ เรียกได้ว่าตู้ส่วนใหญ่ในประเทศเรา เป็นแบบ 200A ซะส่วนมาก
ดังนั้นในหัวข้อนี้ นอกจากเลือกกำลังชาร์จแล้ว การเลือก Voltage ที่สูง จะมีสิทธิชาร์จในตู้ธรรมดาได้เร็วขึ้นด้วยครับ
เอาละครับ ทั้งหมดนี้ ก็เป็น 5 ข้อที่สำคัญ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจสเปคของรถไฟฟ้ามากขึ้น เมื่อเราเห็นสเปคเราจะได้มองเห็นข้อมูลที่ถูกต้อง มาประกอบการตัดสินใจได้ดีขึ้นครับ