ระบบ Adaptive Cruise Control (“ACC”) หรือว่า “ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน” เป็นระบบรักษาความเร็วในการเดินทางที่เราตั้งเอาไว้ โดยจะทำการชะลอความเร็วเมื่อตรวจจับรถข้างหน้าที่มีความเร็วต่ำกว่า และสามารถชะลอตามการจราจรได้จนหยุดนิ่ง (ในรถบางรุ่น) เมื่อรถนำเคลื่อนตัว รถจะเพิ่มความเร็วตามไปจนถึงความเร็วที่เราตั้งเอาไว้ในตอนแรก ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการขับขี่ และลดความเหนื่อยล้าในการจราจรได้มาก ซึ่งในปัจจุบันแทบจะมีใช้กันอย่างแพร่หลายในรถรุ่นใหม่ ๆ เกือบทุกคัน
ส่วนมากระบบนี้จะใช้ “กล้องหน้า” ที่ติดอยู่ที่กระจก และ “เรดาร์” ในการตรวจจับรถคันหน้า แต่ผู้ผลิตบางค่ายเริ่มนิยมใช้ “กล้อง” เพียงอย่างเดียวในการประมวณผล เช่น Honda หรือ Tesla เป็นต้น นอกจากนี้ในรถรุ่นเก่า ๆ กล้องหน้าจะค่อนข้างแคบ ทำให้ตรวจจับรถที่อยู่ข้างเคียงได้ยาก แต่รถรุ่นใหม่ ๆ กล้องหน้าจะใช้เลนส์มุมกว้างขึ้น จะสามารถตรวจจับวัตถุที่อยู่หน้ารถในเมืองได้ดีขึ้น คุณผู้อ่านสามารถดูกรอบเลนส์ที่หน้ารถได้ว่า รถของเราเป็นเลนส์มุมกว้างหรือแคบ
อย่างไรก็ตามระบบนี้มักจะทำงานได้ดีในหลายสถานการณ์ แต่ก็อาจจะมีบางสถานการณ์ที่อาจจะไม่ได้ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ขับที่จะต้อง “พร้อม” เข้าควบคุมแทนเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะระบบเป็นเพียง “Autonomous Level 2” ที่มีไว้เพื่อ “ช่วยเหลือ” เท่านั้น ไม่ได้ทดแทนคนขับ ดังนั้นเรามาดูกันว่าสถานการณ์ไหนที่เราควรระวังมากกว่าปกติ จะได้เตรียมพร้อมเข้าควบคุม หรือเพิ่มความระวังเป็นพิเศษเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานครับ
จากการที่ผมได้ใช้ “ACC” มาหลากหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น BMW, Volvo, Honda, Toyota, Mazda, Nissan, ORA GoodCat, MG ZS/HS, BYD ATTO3, Tesla, Openpilot ฯลฯ พอจะสรุปได้ 10 ข้อดังต่อไปนี้ครับ
ถ้าเป็นคนเรามักจะประเมิณว่าพ้น และขับผ่านไปได้ แต่บางทีระบบอาจจะไม่แน่ใจว่าอยู่เลนไหน หรือพ้นหรือไม่ จึงอาจจะเบรคเพื่อไม่ให้ชน ซึ่งจุดนี้รถคันหลังอาจจะไม่ทันระวังเพราะรถหยุดแบบไม่มีเหตุผล และอาจชนท้ายได้
ส่วนมากมนุษย์ขับรถด้วยการทำความเข้าใจสถานการณ์ และตอบสนองต่อสิ่งที่ประมวณผลได้ ไม่ได้ตอบสนองต่อตัวเหตุการณ์โดยตรง ทำให้การตอบสนองต่ออะไรที่ไม่ได้คาดการณ์ จะช้ากว่าคอมพิวเตอร์
สถานการณ์นี้คล้าย ๆ กับข้อแรก ท้ายรถที่ยื่นมาระบบอาจจะมองว่าไม่พ้น และเบรคทำให้เสี่ยงที่จะถูกชนท้ายได้เช่นกัน หากเจอทางกลับรถควรระวังเป็นพิเศษ หรือควบคุมเองจะดีกว่า
ระบบจะทำงานได้ดีเมื่อมีรถนำหน้า และจะสามารถตามจนหยุดนิ่งได้ แต่ถ้าหากไม่มีรถนำ ระบบอาจจะไม่สามารถตรวจจับเจอรถที่หยุดนิ่งได้ล่วงหน้า ทำให้ไม่สามารถหยุดได้ทันเวลา ซึ่งสถานการณ์นี้เป็นเรื่องท้าทายมากในการแยกรถที่หยุดนิ่งกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากเจอสถานการณ์แบบนี้ให้เตรียมตัวเบรค หรือหยุดเองจะปลอดภัยกว่า
สถานการณ์นี้คล้าย ๆ กับติดไฟแดง แต่ยากกว่า เพราะระบบจะไม่เห็นรถที่จอดอยู่เนื่องจากเป็นทางโค้ง พอเลี้ยวมาจนเจอรถติดก็อาจจะช้าเกินไปที่จะตรวจจับ หรือหยุดรถได้ ดังนั้นถ้าเจอสถานการณ์นี้หยุดเองจะปลอดภัยกว่าครับ
รถเราจะชะลอ เพราะมีรถที่กำลังเลี้ยวเข้าซอย และในสถานการณ์แบบนี้คนที่รอออกจากซอยก็มักจะออกมาเพราะเห็นรถเราชะลอแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อรถคันหน้าเลี้ยวเข้าซอยไป รถเราจะเร่งเพื่อให้ได้ความเร็วเดิม และจะเร่งตรงเข้าหารถที่กำลังออกจากซอยทันที ซึ่งระบบอาจจะตรวจจับไม่ทันจนเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นกรณีมีรถออกจากซอย ให้ยกเลิกระบบ และให้ทางรถที่กำลังออกจากซอยจะดีที่สุดครับ
อันนี้คล้าย ๆ กับข้อที่แล้ว หากเราทิ้งระยะห่าง รถที่อยู่ในซอยจะออกมา ถ้าเป็นคนจะชะลอเพื่อให้ทาง แต่ระบบอาจจะไม่หยุดให้ เพราะตรวจจับไม่เจอ หรือยังไม่เข้ามาในเลนเรา และยังคงเร่งเข้าใส่ ซึ่งอาจจะเสี่ยงทำให้เข้าใจผิด หรือเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน
หากเรามีรถนำเข้าโค้ง รถจะรักษาความเร็วตามรถนำ แต่เมื่อรถนำเริ่มเลี้ยว ระบบอาจจะตีความว่ารถเปลี่ยนเลนไป และเริ่มเร่งความเร็วเข้าใส่โค้ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน สถานการณ์นี้เป็นไปได้ แต่อาจจะไม่บ่อย ระบบที่ฉลาดจะมีการประมวณเส้นทางในการวิ่งอยู่ด้วย และยังคงเข้าใจว่ารถนำไม่ได้เปลี่ยนเลน แต่ถนนโค้ง อย่างไรก็ตามหากถึงทางโค้งอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
กรณีนี้คล้าย ๆ กับข้อที่แล้ว เมื่อรถเราชะลอตามรถนำอยู่ และรถนำกลับรถพ้นกล้องแล้ว รถอาจจะเร่งเข้าใส่จุดกลับรถ ดังนั้นหากถึงจุดกลับรถให้ยกเลิกระบบ และหยุดเองจะดีกว่าครับ
ในการใช้งานในกรุงเทพฯ และการจราจรหนาแน่น อาจจะมีมอเตอร์ไซด์ที่ใกล้หน้ารถเลนเดียวกับเรา จะเห็นว่าจุดนี้อาจจะอยู่นอกรัสมีการมองเห็นของกล้อง ทำให้รถมีสิทธิเข้าไปชนมอเตอร์ไซด์ได้เหมือนกัน ดังนั้น ACC ค่อนข้างไม่สะดวกในการใช้งานในเมืองที่มีการแชร์เลนกันระหว่างรถ และจักรยานยนต์ ขับเองจะปลอดภัยกว่าครับ
เหตุการณ์นี้คล้าย ๆ ข้อที่แล้ว หากใช้งานในเมืองที่มีการจราจรติดขัด ระบบมักจะทิ้งระยะห่างมากกว่าคนขับพอสมควร (แม้ปรับเป็นใกล้สุด) จึงทำให้เปิดช่องให้แทรกได้ง่าย และหากรถที่มาแทรก ไม่ได้อยู่ในรัสมีการมองเห็นของกล้อง ก็มีสิทธิที่จะเร่งเข้าใส่ หรือหยุดไม่ทัน และเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน ดังนั้นในการจราจรที่มีการแข่งขันสูง ขับเองจะง่ายกว่าครับ
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่ผมยกตัวอย่างมาเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ผมเจอบ่อย ๆ ในการใช้ Adaptive Cruise Control จากรถหลาย ๆ ยี่ห้อ ซึ่งบางเหตุการณ์ยี่ห้อนึงเป็น แต่อีกยี่ห้ออาจจะไม่เป็นก็ได้ และเป็นไปได้ว่าอาจจะมีสถานการณ์แบบอื่นอีกนอกเหนือจาก 10 ข้อนี้ ถ้าเพื่อน ๆ เคยเจอเหตุการณ์ไหนตามนี้ หรือนอกเหนือจากนี้ สามารถคอมเมนท์ไว้ที่ใต้โพสได้ครับ
ระบบ Adaptive Cruise Control จะฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ในรถบางรุ่นเช่น Tesla, Openpilot ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปยัง Server เพื่อให้ Ai Train และเรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จนเกิดเป็น Model การเรียนรู้ใหม่ขึ้นมา และจะถูกส่งมาอัพเดทให้กับซอฟแวร์ในตัวรถ (OTA) เพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม
แต่สำหรับรถส่วนมากจะไม่ได้มีการอัพเดทตรงนี้ ซื้อมาทำได้แค่ไหน ก็จะทำได้แค่นั้นตลอดไป หากอยากได้ระบบที่ดีขึ้นต้องซื้อรถรุ่นใหม่เท่านั้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไร เพราะเซนเซอร์ในตัวรถไม่ได้มีปัญหา มีแค่ซอฟแวร์เท่านั้นที่ต้องปรับปรุง แทนที่จะแก้ที่ซอฟแวร์ กลับต้องซื้อรถรุ่นใหม่ โชคดีที่เทรนแบบนี้กำลังจะเปลี่ยนไป หลาย ๆ บริษัทอย่าง Volvo ก็พยายามให้มีการอัพเดทความสามารถใหม่ ๆ กับรถรุ่นเดิม (อาจจะเริ่มที่ EX90)
เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ดี และจะใช้ได้อย่างปลอดภัยถ้าเรารู้ข้อจำกัด
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณผู้อ่านใช้งาน “ACC” ได้อย่างปลอดภัย และมั่นใจขึ้นครับ
ขอบคุณครับ