ปีนี้รถยนต์ไฟฟ้า EV เปิดตัวในไทยกันหลายยี่ห้อหลายรุ่นจนตามข่าวไม่ทันเลยทีเดียว ซึ่งมีรถหลายยี่ห้อที่แถมเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Charger มาให้ใช้ที่บ้านด้วย แต่ก็มีบางยี่ห้อหรือรถบางรุ่นที่ไม่แถม EV Charger เพราะว่าต้องการลดราคามาสู้ในสมรภูมิ EV ที่ดุเดือดนี้ทำให้ภาระตกมาที่ผู้บริโภค ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนการซื้อและติดตั้ง EV Charger เอง
ทว่า ถ้ามองในแง่ดี คือ เราจะได้มีอิสระในการเลือก EV Charger รุ่นที่ดีกว่าของแถมจากค่ายรถ และมีฟังก์ชันเพิ่มเติม สามารถเชื่อมต่อมือถือเพื่อดูสถานะและสั่งการได้ด้วย หรือที่เรียกว่า Smart EV Charger
ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็กำลังมองหา Smart EV Charger ดี ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานอยู่เช่นกัน
ในบทความนี้ผมจะมาแชร์ว่า ผมเลือกอะไร เพราะอะไร เผื่อจะเป็นประโยชน์ และเป็นแนวทางให้กับผู้ที่กำลังมองหา EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ครับ
เลือกซื้อด้วยคุณภาพ หรือใช้ราคาเป็นเกณฑ์?
ลองนึกภาพ Smartphone Adapter ถ้าเราซื้อดี ๆ ซักอัน เราเปลี่ยนโทรศัพท์ก็ยังใช้ Adapter อันเดิมได้
เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ก็เช่นเดียวกัน แม้เปลี่ยนรถ หรือมีรถไฟฟ้าคันที่สอง เราก็ยังสามารถใช้เครื่องชาร์จเดิมได้
ผมว่าเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มันเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะจะลงทุนซื้อใช้ระยะยาวได้ ดังนั้นนอกจากจะเลือกจากฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์แล้ว เราจึงควรพิจารณายี่ห้อเครื่องชาร์จที่น่าเชื่อถือ มีคุณภาพการผลิตที่ดี ทนทาน เพราะนอกจากจะใช้ได้ยาวนานแล้ว ยังได้ความปลอดภัยด้วย
ถ้าจะซื้อควรคำนึงถึงอะไรบ้าง?
การเลือก EV Charger สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ ความปลอดภัย
โดยมีปัจจัยอยู่ 2 ส่วนคือคุณภาพเครื่องชาร์จ และมาตรฐานการติดตั้ง
นอกจากการเดินระบบไฟฟ้าที่มีการป้องกันไฟรั่วไฟดูด และใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม ตรงตามมาตรฐานการไฟฟ้าฯกำหนด ควรเลือกช่างที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการติดตั้ง EV Charger และมีบัตรช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เพื่อให้มั่นใจว่าช่างจะทราบวิธีการติดตั้งที่ถูกต้องและมีทักษะการติดตั้งที่ดี เพราะปัญหาส่วนมากมักเกิดจากการคลายตัวของจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ จนเกิดการอาร์ค (Electrical Arcing) ขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความร้อนที่สูงมากจนสายไฟละลาย และอาจเกิดไฟไหม้ได้ ดังนั้นการติดตั้งจึงสำคัญมาก จึงควรจะหาทีมช่างจากบริษัทที่ชำนาญการติดตั้ง EV Charger และมีประสบการณ์มาแล้วเยอะๆ
(ลองดูตัวอย่างนี้ว่าการอาร์คเกิดขึ้นได้ง่ายขนาดไหน
https://www.youtube.com/watch?v=nPhgQpRFe5A)
การเลือกเครื่องชาร์จ ควรตรวจสอบจากมาตรฐานการรับรองที่เครื่องได้รับ เช่น IEC ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล หรือเลือกซื้อกับตัวแทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบได้ เราไม่สามารถเปิดมาเช็คระบบไฟภายในได้ เพราะหากการผลิตมีการเดินสายไม่ดี หรือวัสดุไม่ดี ก็มีโอกาสเสี่ยงอาจเกิดการอาร์ค หรือลัดวงจรได้และจะเกิดในกล่องที่เรามองไม่เห็น หรือบางกรณีอาจเกิดความร้อนสูง และเกิดแรงดันจนกรอบแตกออกมาที่มีข่าวให้เห็นกันบ่อย ๆ ดังนั้นจึงต้องเลือกเครื่องที่มีการคุณภาพการผลิตที่ดี เพื่อป้องกันปัญหา ณ จุดนี้ได้
โดยส่วนมากทั้งสองส่วนนี้จะมาพร้อมกัน เมื่อซื้อเครื่องชาร์จ ก็มักจะแถมบริการติดตั้งมาด้วย ดังนั้นจึงควรเลือกแบรนด์ หรือผู้ผลิตที่ไว้ใจได้
โดยปกติความเร็วในการชาร์จจะถูกกำหนดจาก On-Board Charger ในตัวรถ โดยมากจะอยู่ที่ 7.4 kW, 11 kW และน้อยคันจะถึง 22 kW ซึ่ง EV Charger ที่เป็น Home Use ส่วนใหญ่จะมีให้เลือกตั้งแต่ 7–22 kW อยู่แล้ว
โจทย์ต่อมาของผมคือเรื่องฟังก์ชันการใช้งานที่เป็น Smart EV Charger
Smart EV Charger มันต่างกับ EV Charger ปกติอย่างไร?
ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าอะไรก็ตามที่ต่อ WiFi ได้ เราจะเพิ่มคำนำหน้าว่า “Smart” เช่น พัดลม ก็คือพัดลม แต่หากมันต่อ WiFi ได้ มันจะชื่อว่า Smart Fan เป็นต้น และก็จะมี Application ในมือถือที่ติดต่อสื่อสาร ควบคุมเจ้าอุปกรณ์ “Smart” นี้อีกที
EV Charger ก็เช่นเดียวกัน หากมันต่อ WiFi ได้ มี App ควบคุมจากมือถือ เราก็จะเรียกมันว่า “Smart EV Charger”
ซึ่ง EV Charger ทั่วๆไปที่ใช้ตามบ้านปกตินั้นเมื่อเราเสียบเข้ากับรถก็จะทำการชาร์จทันที อยากกดหยุดก็กดปลดออก
แต่เมื่อเป็น Smart EV Charger ความพิเศษก็คือ เราสามารถควบคุมให้ “เริ่ม” หรือ “หยุด” ตามเงื่อนไขหรือช่วงเวลาที่เรากำหนดได้ “จากทุกที่”
เงื่อนไขที่เรามักจะใช้บ่อย ๆ คือให้เริ่มชาร์จตอน Off-peak ช่วงเวลา 22.00–09:00 น.(ในวันธรรมดา) และหยุดชาร์จก่อน On-peak ในตอนเช้าเป็นต้น ซึ่งหากเราไม่มี Smart EV Charger หรือรถไม่ได้ควบคุมได้จาก App เราอาจจะต้องมาเสียบชาร์จเองตอนกลางคืน และตื่นมาถอดเองในตอนเช้า แต่หากเรามี Smart EV Charger เราสามารถเสียบทิ้งเอาไว้หลังกลับบ้านได้เลย และสามารถตั้งเวลา หรือสั่งชาร์จ — หยุดชาร์จ ได้ตามต้องการ
ด้วยโจทย์ทั้งสองข้อนี้ ทำให้ผมหาข้อมูล ดูรีวิวทั้งในและต่างประเทศ และพบเครื่องที่น่าจะตอบโจทย์ที่สุดสำหรับผม นั่นก็คือ Enel X Way รุ่น JuiceBox ที่มีความน่าเชื่อถือทั้งในเรื่องคุณภาพเครื่อง และมาตรฐานการติดตั้งมาใช้งาน ซึ่งมีฟังก์ชันที่ต้องการเกือบทั้งหมด
เดี๋ยวมาแชร์ให้ฟังครับว่าการใช้งานเป็นยังไงบ้าง
สิ่งที่ชอบส่วนตัวเลยก็คือ “ตัวเครื่อง” การออกแบบ การใช้สี ทำได้สวย และเรียบง่าย ดูเป็นของประดับที่ไม่ใช่ส่วนเกิน และกลมกลืนสวยงามไปกับบ้านแบบ Modern ได้ไม่ยากเลย มีแถบไฟ LED บอกสถานะการชาร์จที่ดูเข้าใจง่าย วัสดุภายนอกเป็นพลาสติก ABS คุณภาพดี ซึ่งมีคุณบัติที่ทนความร้อนสูง ตัวเครื่องแข็งแรง ปิดมิดชิด รองรับมาตรฐานการกันฝุ่นกันน้ำ IP66 สามารถติดตั้ง outdoor ได้ ให้กลมกลืนไปกับภายนอกก็ได้เช่นกัน
หัวที่ได้มาเป็น Type2 มาตรฐานตาม EU หัวจับง่ายถนัดมือ และที่ดีมากคือสายชาร์จยาวถึง 7 เมตร รถไม่ต้องจอดตรงช่องหรือจอดนอกโรงรถก็ยังลากไปถึง สายหนาและแข็งแรงพร้อมที่เก็บหัวชาร์จซึ่งติดมาพร้อมกับตัวเครื่องและที่ม้วนเก็บสายชาร์จ ทำให้เก็บง่ายในขณะที่ยี่ห้ออื่น ๆ จะเอามาม้วนที่รอบตัวเครื่องทำให้ดูรกหรือหัวชาร์จหล่นตกพื้นเสียหายได้
.
การใช้งานจะเลือกได้ว่าจะเสียบแล้วชาร์จเลย (Connect and charge) หรือต้องตั้งค่าให้เป็น unlock to charge ต้องกดยอมรับบน App ก่อนชาร์จทุกครั้ง เหมาะสำหรับป้องกันคนอื่นมาแอบชาร์จ แต่ผมใช้งานที่บ้านจะเลือกแบบเสียบแล้วชาร์จได้ทันที
Enel X Way รุ่น JuiceBox 2.01 เครื่องนี้รับกระแสได้สูงสุด 32A ทั้ง 1 เฟส ให้ความเร็ว 7.4 kW และ 3 เฟสได้ความเร็วถึง 22 kW รถที่ผมใช้รองรับที่ 11kW แต่ผมเลือกใช้งานแบบ 1 เฟส 7.4kW เพราะระบบไฟเดิมของบ้านเป็น 1 เฟส และในแต่ละวันผมใช้งานไม่เกิน 100 กม. หรือชาร์จไม่ถึง 20 kWh ต่อวัน ทำให้ใช้เวลาชาร์จกลับเพียง 3 ชม.เท่านั้น ความเร็ว 11kW ก็ใช้เวลาไม่ได้ต่างกันมากมายเท่าไร เมื่อเทียบกับความยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนระบบไฟ แต่ถ้าบ้านใครเป็น 3 เฟสอยู่แล้ว ติด 3 เฟสจะดีที่สุดครับ จะได้ความเร็วเต็ม 11 kW หรือ 22kW แล้วแต่ On-board Charger ของรุ่นรถนั้นๆเลย
นี่เป็นจุดเด่นของ JuiceBox คือมีฟังก์ชั่นให้เลือกใช้ปรับตั้งมากมาย สิ่งที่เด่น ๆ มีดังนี้
1. ตั้งเวลาเพื่อเริ่มชาร์จ — หยุดชาร์จ
แน่นอนว่าทุกบ้านที่ใช้มิเตอร์ TOU จะอยากตั้งเวลาให้ชาร์จตอน Off-peak ที่ดีคือ App Enel X Way ของเครื่องชาร์จนี้สามารถตั้งเวลาได้ทั้งวันธรรมดา (Weekday) และวันหยุด (Weekend) แยกกัน ทำให้เลือกตั้งในช่วง Off-peak 22.00–09.00 ในวันธรรมดา ส่วนวันหยุดที่เป็น Off-peak ทั้งวัน ก็สามารถเลือกช่วงเวลาที่ต่างกับวันธรรมดาได้ตามสะดวกเลย
2. ชาร์จแบบระบุเงื่อนไข
นอกจากระบุเวลา ยังสามารถระบุเงื่อนไขการชาร์จลักษณะอื่นได้ เช่น
ตั้งลิมิตการชาร์จ ระบุได้ว่าจะให้ชาร์จถึงกี่เปอร์เซ็นต์ มีประโยชน์สำหรับรถที่มีแบตเตอรี่แบบ NMC ที่ไม่นิยมชาร์จเต็มเพื่อถนอมแบตเตอรี่ สามารถระบุเป้าหมายได้เลย เช่น 90% (แต่ต้องระบุ SOC ขณะก่อนชาร์จด้วย)
ระบุเป็น kW ได้เลย เช่น วันนี้อยากชาร์จ 15kW, 30kW เป็นต้น
3. ดูสถานะการชาร์จได้แบบ Realtime
เราสามารถดูรายละเอียดขณะชาร์จได้ว่าตอนนี้ชาร์จด้วยกำลังเท่าไร ชาร์จไปกี่นาที และกี่กิโลวัตต์ (kW) ที่ชอบคือปริมาณ kW ที่บอกใน App ค่อนข้างใกล้เคียงกับมิเตอร์ที่ผมติดเอาไว้ดูสำหรับเครื่องชาร์จโดยเฉพาะ
4. เก็บ history ของทุกการชาร์จ
ข้อนี้ผมชอบมาก ใน App จะเก็บการชาร์จทั้งหมดทุก session ให้ดูไม่ต้องจดเอง แต่ละ session จะบอกข้อมูลอย่างละเอียด เวลาชาร์จทั้งหมดเท่าไร เริ่ม-หยุดกี่โมง ปริมาณ kWh ที่ชาร์จ ระยะทางที่ได้ และปริมาณ CO2 ที่ลดได้เป็นต้น สะดวกสำหรับคนอยากนำข้อมูลมาคำนวณค่าไฟว่าใช้ชาร์จรถไปกี่บาท
5. เพิ่มโปรไฟล์รถได้มากกว่า 1 คัน
ในกรณีที่เรามีรถไฟฟ้าหลายคัน เราสามารถเพิ่มเข้าไปใน App ให้จดจำค่าการชาร์จเฉพาะคันนั้น ๆ ได้ ซึ่งมีประโยชน์มาก เช่น คันที่เป็น LFP เรากำหนดให้ชาร์จเต็ม 100% คันที่เป็น NMC เราอาจจะกำหนดที่ 90% เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ทุกคันสามารถชาร์จตามเงื่อนไขการตั้งเวลา TOU เดียวกันได้เลย ไม่ต้องตั้งแยกทีละคัน
พวกนี้คือฟีเจอร์เด่น ๆ ที่ผมชอบ
แต่ที่จริงยังมีฟีเจอร์อื่น ๆ อีกเช่นการแชร์ Pin ให้เพื่อนหรือคนในบ้าน เพื่อชาร์จรถไฟฟ้าคันอื่นๆได้ โดยไม่ต้องเพิ่มโปรไฟล์รถ หากสนใจสามารถดูฟีเจอร์เต็ม ๆ ได้จากเว็บหลักได้เช่นกันครับ
สรุปข้อดีสั้น ๆ
• สวย มี LED บอกสถานการณ์ชาร์จหน้าเครื่อง
• กันฝุ่นกันน้ำ IP66 ติด Outdoor ได้
• สายชาร์จยาว 7 เมตร มาพร้อมที่เก็บสายติดกับตัวเครื่อง
• ตั้งเวลาเริ่มชาร์จได้ แยกวันธรรมดา และวันหยุด (สำหรับมิเตอร์ TOU)
• บอกข้อมูลขณะชาร์จ Realtime และปริมาณ kWh ที่ค่อนข้างตรง
• กำหนดเงื่อนไขการชาร์จได้หลายแบบ
• มีเก็บ History การชาร์จอย่างละเอียดทุกครั้ง
• เพิ่มข้อมูลรถได้หลายคัน
มีข้อดีแล้ว มาดูกันว่ามีปัญหาอะไรบ้าง
• Set up WiFi ในครั้งแรกแอบยุ่งยากนิดหน่อย สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้เล่น Gadget IT (แต่มีคลิปสอนใน YouTube เป็นภาษาไทยเลย ทำตามไม่ยาก หรือโทรถามให้เจ้าหน้าที่ก็ช่วยอธิบายได้)
• เวลาดึงข้อมูลจาก server นานไป เช่นตอนกดเลือกรถ (แต่อาจจะเป็นเพราะ Wifi บ้านช้าก็ได้)
• การระบุ % ในการชาร์จอาจมีความคลาดเคลื่อน (เบื้องต้นเดาว่าอาจจะเป็นที่เราใส่ข้อมูล Config battery ไม่ตรง)
ฟีเจอร์ใน App ที่ให้มาก็ตอบโจทก์การใช้งานประจำวันได้แล้ว แต่ก็มีฟีเจอร์ที่แอบอยากได้เพิ่มเติมบ้าง จะสะดวกมากขึ้นกว่านี้อีก เช่น
• ใน History น่าจะมีการนำค่าไฟไปคำนวนให้อัตโนมัติด้วยจะสะดวกมาก
• ใน History น่าจะมีฟิลเตอร์แสดง session การชาร์จของรถแต่ละคันแยกกันได้
• เงื่อนไขการชาร์จน่าจะสามารถระบุเป็นจำนวนเงินได้ เช่นอยากชาร์จ 100 บาท แบบเติมน้ำมัน
• ข้อมูลขณะชาร์จ Real-time น่าจะมีข้อมูลของอุณหภูมิด้วย และน่าจะแสดงค่า Ground ได้ด้วย
จากการใช้งานมา 2 เดือนกว่า ๆ ยังไม่เจอปัญหาอะไรเกี่ยวกับการชาร์จเลย อาจจะมีเป็นปัญหา Software ช้าบางที กับฟีเจอร์ที่อยากได้เพิ่มพวกนี้มากกว่า ซึ่งเชื่อว่าจะดีขึ้นในอัพเดทต่อ ๆ ไป และหวังว่าจะได้ฟีเจอร์เหล่านี้เพิ่มมาในอนาคต
นี่เป็นข้อมูลจากการใช้งานระยะเวลาสั้น ๆ ครับ แต่สิ่งที่ยังตอบไม่ได้ตอนนี้คือเรื่องความทนทาน และการใช้งานในระยะยาว ไว้ถ้ามีโอกาสจะมาเขียนรีวิวเพิ่มเติมให้ครับ
และทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลที่ผมได้มาระหว่างศึกษาเรื่อง EV Charger และประสบการณ์การใช้งาน Enel X Way รุ่น JuiceBox ครับ
ถ้าใครชอบ Smart Function เหล่านี้ และกำลังมองหา Smart EV Charger ดี ๆ ที่ไว้ใจได้ ผมว่าแบรนด์ Enel X Way ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจครับ
ถ้าใครสนใจ หรืออยากสอบถามราคา
ติดต่อโดยตรงได้ที่ Facebook : EV MALL
https://www.facebook.com/evmallth
มีบริการติดตั้งให้ถึงบ้านโดยช่างที่ชำนาญเฉพาะครับ
สุดท้ายหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังเลือก EV Charger นะครับ
สวัสดีครับ