เรื่องที่ยากของการขับรถลงเขาก็คือ "เบรค" เพราะใช้เยอะเกินไป ก็ไหม้ และเบรคไม่อยู่ (หลายคนคงเคยได้กลิ่นเบรคไหม้กัน ตอนขับบนเขา ) แต่ถ้าเหยียบน้อยเกินไป ก็หยุดรถไม่ได้ ทำให้ต้องใช้สารพัดเทคนิคเข้ามาช่วย วิธีที่ควรจะใช้เสมอก็คือ "ใช้เกียร์ต่ำ" เพื่อให้เครื่องยนต์ช่วยหน่วงความเร็วแทนการใช้เบรค (Engine Brake) แล้วค่อยแตะเบรคช่วยเป็นช่วง ๆ แทน เพื่อลดอาการไหม้
ถ้าเกียร์ออโต้ให้เข้าเกียร์ L หรือบางยี่ห้อใช้เลข 1 หรือ 2 หรือ D3 ก็มี ชวนให้สับสน จนรถสมัยใหม่เดี๋ยวนี้ก็มีเกียร์ "B" มาให้เลย จะได้ไม่ต้องงงว่าจะใช้อะไรดี ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ดูยุ่งยาก ต้องใช้ประสบการณ์ ใช้ทักษะอยู่ดี แต่เรื่องทั้งหมดนี้จะหมดไป เมื่อขับรถไฟฟ้า
ทั้งนี้ก็เพราะมอเตอร์ขับเคลื่อนของรถไฟฟ้า จะหน่วงรถเพื่อทำการชาร์จไฟกลับไปยังแบตเตอรี่ เมื่อเราไม่ได้เหยียบคันเร่ง
การหน่วงนี้มากพอที่จะช่วยชะลอความเร็วมากพอ ๆ กับการใช้เบรค ทำให้การขับลงเขา "แทบ" จะไม่ต้องเหยียบเบรคเลย และนอกจากนี้พลังงานจลย์จากการลงเขายังถูกเปลี่ยนมาเป็นไฟฟ้าเอาไว้ขับเคลื่อนต่อได้อีก ทำให้ไม่มีพลังงานศูนย์เสียโดยเปล่าประโยชน์ เหมือนรถที่ใช้น้ำมัน
ผมลองขับ BMW iX3 ในเกียร์ "B" (One pedal Mode) ลงจากเขาค้อ แทบจะไม่ใช้เบรคเลย แตะเบรคแค่สองครั้งเท่านั้น หมดปัญหาเบรคไหม้แน่นอน
นอกจากนี้ยังได้ไฟฟ้ากลับมาถึง 7 kWh ยิ่งลงมาก ยิ่งได้มาก และแทบจะไม่เสียระยะทางวิ่งเลย
จากที่ลองขับมา การใช้รถไฟฟ้าขับบนภูเขา ปลอดภัย และขับง่ายกว่าเครื่องยนต์ ICE มาก
"รถไฟฟ้าทุกคันขับบนภูเขาได้ไหม?"
การลงมักไม่ค่อยมีปัญหา แต่หากขึ้นเขาที่มีความชันมากกว่าปกติ รถจะต้องมีกำลังของมอเตอร์ที่มากพอ ไม่เช่นนั้นมอเตอร์อาจจะ overheat และหยุดการทำงานกลางเขาได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การใช้รถไฟฟ้าท่องเที่ยงภูเขาในเมืองไทย ยังข้อจำกัดเดิมคือสถานีชาร์จที่ยังไม่ครอบคลุม ทำให้เราขับในเส้นทางภูเขา ที่มีแต่ทางขึ้นยาว ๆ ไม่ได้ เพราะถึงจะใช้ไฟน้อยมากตอนลง แต่ตอนขึ้นก็กินไฟฟ้ามากเช่นกัน และระยะทางวิ่งจะหายไปมากกว่า 40% เลยทีเดียว
ณ วันที่จุดชาร์จพร้อมกว่านี้ การท่องเที่ยวด้วยรถไฟฟ้าจะสะดวกมากขึ้น และปัญหานี้ก็คงจะหมดไปครับ