"ใช้รถไฟฟ้าน่ะ ประกันแพง ค่ายางก็แพง ค่าบำรุงรักษาอีก มือสองราคาตก เอามาคิดหรือยัง ไม่ใช่คิดแต่ค่าไฟถูกแล้วก็บอกว่าถูกกว่า!"
นี่เป็นประโยคผมมักอ่านเจอบ่อย ๆ เวลาที่ทำ infographic เกี่ยวกับความประหยัดของรถไฟฟ้า และเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็มักได้ยินกันเป็นประจำเช่นกัน
แต่มันเป็นอย่างที่เค้าว่าจริงหรือเปล่า สุดท้าย รวมค่าใช้จ่ายอย่างอื่น รถไฟฟ้าประหยัดจริงไหม? เดี๋ยวเรามาลองคำนวนกันดูครับ
ในบทความนี้ผมจะลองเปรียบเทียบรถไฟฟ้า และรถสันดาปที่ราคาใกล้เคียงกัน แล้วลองคิดค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเป็นเจ้าของรถ (Cost of ownership) ให้ครบกันว่าตกลงมันถูกกว่าหรือเปล่า ถ้าโจทย์เราคือหารถที่ใช้ในเมืองราคาประหยัด
ตัวแทนฝั่งรถ ICE ผมขอใช้ Honda City Hatchback เพราะเป็นรถที่ได้รับความนิยมสูง เป็นตัวเลือกแรก ๆ ของคนที่ต้องการรถ City Car โดยเราจะเลือกรุ่นล่างสุด S+ 599,000 บาท
ตัวแทนฝั่งรถไฟฟ้าขอใช้ NETA V เป็นรถไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมสูง และราคาย่อมเยา โดยจะเลือกรุ่น V LITE 549,000 บาท หรือจะเลือกรุ่น SMART 569,000 บาทก็ได้ ในการเปรียบเทียบ
ในการใช้งานเราจะคิดโดยจะอิงตามตารางการบำรุงรักษาคือใช้รถ 20,000 กม.ต่อปี โดยจะคิดการใช้รถเป็นเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กม.
โดยมีค่าใช้จ่ายจะแบ่งเป็นหมวดดังนี้
1. ค่าพลังงาน
2. ค่าประกัน
3. ค่าบำรุงรักษา
4. ค่ายาง
5. ค่าภาษีประจำปี
6. ค่าเสื่อมสภาพรถ
โดยเราจะไล่ไปทีละหมวด เริ่มต้นจากฝั่งรถสันดาป Honda City hatchback ก่อน
หมวดนี้เป็นหมวดที่ใหญ่ที่สุด เพราะว่าเป็นค่าใช้หลักของการใช้รถเลย
Honda City hatchback ฮอนด้าเคลมอัตราการประหยัดน้ำมันอยู่ที่ 23.3 กม/ลิตร (หน้าเว็บ และ Eco Sticker) ซึ่งค่านี้ก็เหมือน มาตรฐาน CLTC ในรถไฟฟ้า ที่ค่อนข้างจะมากเกินความจริงไปนิด ตัวเลขนี้อาจจะพอได้เมื่อเดินทางไกล แต่เมื่อใช้งานในเมืองอาจต่ำได้ถึง 12 กม/ลิตร ดังนั้นขอใช้ค่าเฉลี่ยที่ 16 กม/ลิตร ในการคำนวนแทน
โดยใช้น้ำมัน Gasohol 91 ราคา 38.48 บาท ในระยะทาง 100,000 กม. จะเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ค่าเดินทาง = (ระยะทาง / อัตราการใช้น้ำมัน) x ราคาน้ำมันต่อลิตร
ค่าเดินทาง = (100,000/16) x 38.48 = 240,500 บาท
หรือตก กม.ละ 2.14 บาท
หากเช็คจาก Rabbit เบี้ยของ Honda City ประกันชั้น 1 ซ่อมห้างถูกสุดยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท เมื่อผ่านไป 5 ปีซ่อมอู่ เบี้ยอาจจะลดลงมาเหลือ 14000 บาท ดังนั้นจะใช้ค่าเฉลี่ยเท่ากันทุก ๆ ปีเพื่อให้ง่ายต่อการคำนวนที่ 16000 บาท ส่วนใหญ่ประกันปีแรกจะฟรี ดังนั้นจะคิด 2-5 ปี
ค่าประกัน = 16000 x 4 = 64,000 บาท
ที่ดีมากคือฮอนด้าให้ตารางค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาล่วงหน้ามาถึง 200,000 กม. เลย ถือว่าฮอนด้าทำดีมาก ๆ สำหรับคนต้องการวางแผนค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ในตัวอย่างนี้เราจะใช้ถึง 100,000 กม. หรือ 5 ปี โดยฮอนด้าจะให้เช็คระยะทุก 10,000 กม. หรือ 6 เดือน ค่าบำรุงรักษาจะตกครั้งละไม่เกิน 1500 บาท ซึ่งถือว่าถูกมาก แต่จะแพงที่ 100,000 กม.ที่จะมีการเปลี่ยนอะไหล่เยอะหน่อย รวมค่าอะไหล่ 4650 บาท และค่าแรง 4345 บาท เป็นเงิน 8995 บาท โดยทั้งหมด 5 ปีจะมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 31,510.50 บาท
เปลี่ยนยางทุก 50000 กม. หรือ 2 ปีครึ่ง โดย City Hatchback ใช้ยางขนาด 185/60 R15 จะเปลี่ยนเป็นยางตามท้องตลาดทั่วไปในขนาดเดียวกัน ในที่นี้เราจะเลือก Michelin Energy XM2+ เส้นละ 3590 บาท (ราคาจาก tyre plus) ในการใช้งานถึง 100,000 กม. จะเปลี่ยนอย่างต่ำ 2 ชุด คิดเป็นค่าใช้จ่าย 3590 x 4 x 2 = 28,720 บาท
สำหรับรถขนาด 1000cc จะเสียภาษี 882 บาท 5 ปี คิดเป็นเงิน = 882 x 5 = 4,410 บาท
อันที่จริงการเก็บภาษีประจำปีมีเจตนารมณ์ในการเก็บเพื่อเป็นค่าบำรุงรักษาถนน และสิ่งอื่น ๆ ที่ถูกทำลายจากการใช้รถ แต่ปัจจุบันภาษีเก็บจากปริมาตรกระบอกสูบซึ่งไม่ได้สะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้องเท่าไร หากสามารถปรับเปลี่ยนกฏหมายได้ ควรจะนำค่าการใช้พลังงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาคิดภาษี จะตรงต่อเจตนารมณ์มากกว่า
ผมลองสำรวจราคา Honda City มือสองอายุ 5 ปี ด้วยความเป็นฮอนด้าทำให้ราคาไม่ตกมาก ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 50% ของมือหนึ่ง ดังนั้นหากขาย คันนี้จะได้มูลค่า ประมาณ 300,000 บาท นั่นหมายความว่า 5 ปีมีค่าเสื่อมสภาพ 599000 - 300000 = 299,000 บาท
ค่าน้ำมัน + ประกัน + บำรุงรักษา + ยาง + ภาษี + ค่าเสื่อม ทั้้งหมดเป็นเงิน
240,500 + 64,000 + 31,510.50 + 28,720 + 4410 + 299,000 = 668,140.5 บาท
หรือคิดเป็น กม.ละ 6.7 บาท
ต่อมาคำนวนฝั่ง EV บ้าง
NETA V เคลมการใช้พลังงานอยู่ที่ 143 Wh/km (Eco Sticker) แล้วตัวเลขนี้เชื่อถือได้ไหม?
เรามาลองหา Range จากตัวเลขนี้ดู
ระยะวิ่ง = (1000/การใช้พลังงาน) x ความจุแบต = (1000/143) x 40.7 = 285 กม.
หากคำนวนระยะวิ่งจากการใช้พลังงาน NETA V วิ่งได้ 285 กม.
น้อยกว่าระยะวิ่ง EPA ที่ 301 กม.ซะอีก (384 กม. NEDC) นั่นหมายความว่าค่าการใช้พลังงานนั้น “ตรง” และสามารถนำมาใช้ได้เลย แต่เผื่อการใช้งานเท้าหนัก หรืออากาศร้อน เราจะปัดให้เป็นเลขกลม ๆ 150 Wh/km
ต่อไปจะหาค่าใช้จ่ายจากระยะทาง 100,000 กม. ชาร์จด้วยไฟบ้าน TOU ~ 3.8 บาท (รวม VAT+Ft)
ค่าเดินทาง = (ระยะทาง / (ค่าการใช้พลังงาน Wh/km / 1000)) x ค่าไฟต่อหน่วย
ค่าเดินทาง = (100,000 x (150/1000)) x 3.8 = 57,000 บาท
หรือคิดเป็น กม.ละ 0.57 บาทเท่านั้น
ใคร ๆ ก็ว่าประกันรถไฟฟ้าแพงกว่ารถสันดาป แต่หากเช็คเบี้ยประกัน NETA V ปีที่สองใน Rabbit จะอยู่ที่ 19900 บาทต่อปี กลับถูกกว่า City ซะอีก แต่หากหานอก Platform จะเจอโปรโมชันวิริยะเหลือ 12800 บาท แต่เพื่อความเป็นธรรม เราจะใช้ราคาที่เจอจาก Platform ในการคำนวน เมื่อผ่านไป 5 ปี เบี้ยอาจจะลดลงมาเหลือ 13000 บาท ดังนั้นจะใช้ค่าเฉลี่ยเท่ากันทุก ๆ ปีเพื่อให้ง่ายต่อการคำนวนที่ 15000 บาท ประกันปีแรกจะฟรี ดังนั้นค่าประกันจะเป็น 15000 x 4 = 60,000 บาท
รถไฟฟ้าที่ได้ชื่อว่าบำรุงรักษาถูก แทบจะไม่ต้องทำอะไรนอกจากการเปลี่ยนยาง และเติมน้ำที่ปัดน้ำฝน แต่อย่างไรก็ตาม NETA ก็ยังมีการบำรุงรักษาอยู่บ้าง โดยส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยน Transmision oil กับ coolant ต่าง ๆ ทำค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามาให้ 5 ปี 100,000 กม. โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 19796 บาท ต้องขอบคุณ NETA ที่ทำตารางมาให้ผู้ใช้ทราบค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้
นี่เป็นอีกหัวข้อที่หลายฝ่ายบอกว่ารถไฟฟ้าต้องใช้ยาง EV มีราคาสูง อย่าง NETA V ก็ไม่ได้แถมยาง EV มาให้ ดังนั้นถ้าค่าการรับน้ำหนักได้ ก็สามารถใช้ยางธรรมดาได้เช่นกัน (อ่านเรื่องยาง EV ได้ที่นี่ https://bit.ly/3J7NuvA )
ดังนั้นสำหรับ NETA V จะให้ยางขนาด 185/55 R16 มา โดยจะเปลี่ยนเป็นยางตามท้องตลาดทั่วไปในขนาดเดียวกัน ในที่นี้เลือก Michelin Energy XM2+ เส้นละ 4350 บาท (ราคาจาก tyre plus) ในการใช้งานถึง 100,000 กม. จะเปลี่ยนอย่างต่ำ 2 ชุด คิดเป็นค่าใช้จ่าย 4350 x 4 x 2 = 34,800 บาท
อย่างที่ทราบว่าการเก็บภาษีประจำปีตามกฏหมายรถยนต์นั้น มีเจตนารมเพื่อการบำรุงรักษาถนน ดังนั้นการคิดจากกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าจึงไม่ได้สะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรสาธารณะ ดังนั้นการเก็บภาษีจึงเก็บตามน้ำหนักของรถแทน
สำหรับ NETA V ที่มีน้ำหนักรถประมาณ 1200 กก. ภาษีจะอยู่ที่ 800 บาท และสำหรับปีแรกที่รัฐช่วยจนถึง 30 ก.ย. 68 ภาษีจะเหลือ 160 บาท เท่านั้น ดังนั้นภาษี 5 ปีจะเป็นจำนวน 160 + (800 x 4) = 4360 บาท
แต่ถ้าจะให้ดี ควรจะนำเอาค่าการใช้พลังงานเข้ามาคิดรวมกับภาษีด้วยจะตรงเจตนารมณ์กฏหมายมากที่สุด
รถ EV ราคาตก เสื่อมเร็ว?
นี่เป็นประเด็นที่คนกังวล เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าเมื่อหมดอายุรับประกัน แบตจะเสื่อม รถจะไม่สามารถวิ่งได้อีก ต้องเปลี่ยนแบตเท่านั้น ในราคาหลาย ๆ แสน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ในความเป็นจริง รถยังคงวิ่งได้ แค่ระยะจะน้อยลงเท่านั้น
ในกรณีนี้ NETA V วิ่งไป 100,000 กม. ลองคำนวนกันดูว่าชาร์จไปกี่ครั้ง
สมมุติว่าวิ่งได้ 250 กม/ชาร์จ คิดเป็น 100,000 / 250 = 400 Cycle เท่านั้น ซึ่งแบตเตอรี่ LFP สามารถใช้ได้เกิน 2000-3000 Cycle นั่นแปลว่าแบตยังคงมี SOH ที่ดี และยังวิ่งได้อีกเป็นแสนกิโลเมตร ตอนนี้ค่าเสื่อมอาจจะไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ
แต่อย่างไรก็ตาม ราคารถมือสองถูกกำหนดจาก Demand ไม่ใช่ "ข้อเท็จจริง" เมื่อคนซื้อกลัว คนขายขายไม่ได้ ก็ลดราคา นี่จึงเป็นสาเหตุที่ราคาตกลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น และมีค่าเสื่อมสูงกว่ารถสันดาปในปีที่เท่ากัน แม้ว่าตัวรถจะยังใช้งานได้ก็ตาม
ในปัจจุบัน ยังไม่มีราคา NETA V มือสองอายุ 5 ปีในตลาดให้เก็บข้อมูล ดังนั้นในหมวดนี้จะคิดกรณีเลวร้ายที่สุดคือเมื่อ 5 ปีไม่มีคนต้องการ และต้องขายซาก
เนื่องจากแบตเตอรี่ในรถไฟฟ้าสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นเป็น Second life ได้ ที่นิยมคือทำเป็นแบตเตอรี่สำรองไฟของระบบ Solar แบตเตอรี่ขนาด 40 kWh เสื่อมเล็กน้อย น่าจะขายมือสองได้ประมาณ 200,000 บาท หรือมากกว่า ดังนั้นค่าเสื่อมสภาพของรถ = 549000 - 200000 = 349000 บาท หรือคิดเป็นอัตราเสื่อม 64%
ค่าน้ำมัน + ประกัน + บำรุงรักษา + ยาง + ภาษี + ค่าเสื่อม ทั้้งหมดเป็นเงิน
57,000 + 60,000 + 19796 + 34,800 + 4360 + 349000 = 524,956 บาท
หรือคิดเป็น กม.ละ 5.2 บาท
ซึ่งผลลัพธ์ก็ยังถูกกว่า Honda City ในปีเดียวกัน
ดังนั้นจากตัวอย่างนี้ ในการใช้งาน 100,000 กิโลเมตร 5 ปี หากซื้อ NETA V ใช้งานในเมือง ชาร์จที่บ้าน แบบ TOU เป็นหลัก จะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า City Hatchback ที่เติม 91 อัตราสิ้นเปลือง 16 กม/ลิตร
อยู่ 668,140.5 - 524,956 = 143,184.5 บาท
ในความเป็นจริง ตัวเลขอาจจะต่างไปจากบทความนี้ เช่นค่าประกันภัย เชื่อว่า NETA V จะมีค่าประกันเฉลี่ยที่ถูกกว่านี้แน่นอน ดังนั้นให้แทนตัวเลขที่หาได้จริง ๆ ลองคำนวนให้ตรงกับการใช้งานของเรา จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงที่สุด
ถ้าเงื่อนไขอื่น ๆ เช่นอัตราสิ้นเปลืองเปลี่ยนไป Honda City ใช้งานในเมืองเป็นหลัก อาจจะได้อัตราสิ้นเปลืองเหลือ 12 กม/ลิตร ก็จะทำให้ส่วนต่างจะมากขึ้นเป็น 223,851 บาท
ด้วยอัตราสิ้นเปลืองนี้ และใช้รถต่อจนถึง 160,000 กม. ส่วนต่างจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 385,436 บาท แต่ถ้าขายที่ 10 ปี หรือวิ่งถึง 200,000 กม. ส่วนต่างจะมากถึง 492,902.83 บาท เลยทีเดียว
จะเห็นว่าส่วนต่างจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อยิ่งใช้รถเยอะ เพราะ EV มีค่าพลังงานที่ถูกกว่า จึงทำให้ค่าใช้จ่ายต่อ กม.ยิ่งถูกลง หรือยิ่งวิ่งเยอะ ยิ่งประหยัดนั่นเอง และหากรถ ICE มีอัตรากินน้ำมันที่มาก ส่วนต่างยิ่งมากตามไปอีก
ส่วนปัจจัยที่จะทำให้รถไฟฟ้าแพงกว่าคือการชาร์จ หากชาร์จด้วยตู้สาธารณะ ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายแพงขึ้นสองเท่า ทำให้ลดความประหยัด และความสะดวกสบายไปเยอะ
อีกปัจจัยหนึ่งคือ “ค่าเสื่อม” เพราะรถไฟฟ้ามีแนวโน้มจะมีค่าเสื่อมสูงกว่ารถสันดาปในปีที่เท่ากัน ด้วยเหตุผลด้านความกลัวที่ได้กล่าวไปข้างต้น และหากใช้รถไม่เยอะ ค่าใช้จ่ายต่อ กม. รวมค่าเสื่อมจะทำให้แพงกว่ารถสันดาป แต่หากวิ่งเยอะ และใช้งานนานจนสุดท้ายค่าเสื่อมของ ICE / EV วิ่งเข้าใกล้กัน เมื่อนั้น EV ถึงจะประหยัดกว่า
อีกปัจจัยที่น่าสังเกตุคือ ใน Segment นี้ค่าประกัน ค่ายาง ค่าภาษี ค่าบำรุงรักษา ใกล้เคียง หรืออาจจะถูกกว่ารถน้ำมันด้วยซ้ำ จึงไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่มีผลอย่างชัดเจน เพราะราคาใกล้เคียงกันมาก ไม่ได้ต่างพอที่จะทำให้เกิดความประหยัดอย่างชัดเจน
อีกเรื่องที่คนเป็นห่วงคือการซ่อม การรออะไหล่ของรถไฟฟ้า ซึ่งหากต้องรอนาน และไม่มีรถใช้ อาจจะใช้เงินส่วนต่างมาเช่ารถได้ และนับเป็น Cost เพิ่มเข้าไปได้ว่ายังประหยัดอยู่ไหม
จากการคำนวนเราสรุปได้ว่า NETA V ที่เป็นรถไฟฟ้า มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า CITY ที่เป็นรถสันดาป ในเงื่อนไขการใช้รถที่กล่าวมา “แต่” ไม่ได้แปลว่ารถไฟฟ้าทุกคัน จะถูกกว่ารถสันดาปทุกรุ่น
รถไฟฟ้าบาง Segment อาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แตกต่างออกไป รถสันดาปบางรุ่น อาจจะประหยัดกว่านี้ ดังนั้นการเปรียบเทียบรถไฟฟ้า กับรถสันดาป รุ่นที่ต่างกัน ด้วยเงื่อนไขการใช้งานต่างกัน ผลลัพธ์ก็จะต่างกัน
บางรุ่นรถไฟฟ้าอาจจะถูกกว่า บางรุ่นรถสันดาปอาจจะถูกกว่า
ดังนั้น ผู้ที่ต้องการใช้รถไฟฟ้าเพื่อความประหยัด อาจจะต้องคำนวนเปรียบเทียบอย่างละเอียดเฉพาะในรุ่นที่เล็งไว้ เพื่อดูว่ารถไฟฟ้ากับรถสันดาปที่เปรียบเทียบกันไว้ อย่างไหนถูกกว่ากันแน่
นอกจากค่าใช้จ่ายก็ยังมีเรื่องการขับขี่ที่ต้องคำนึงถึงด้วย ถึง NETA V จะถูกกว่า แต่ CITY อาจจะมีการขับขี่ที่ดีกว่า เรื่องการขับขี่จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณาประกอบไปด้วย
อย่างไรก็ตามบทความนี้เพียงแต่เสนอวิธีการคำนวนเปรียบเทียบรถไฟฟ้า กับรถน้ำมันในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยยกตัวอย่างรถสองรุ่นนี้เท่านั้น หากคุณผู้อ่านอยากเปรียบคันไหน สามารถเปรียบเทียบเองได้ด้วยหลักการเดียวกันนี้ได้เลยครับ
แต่สุดท้ายจะเลือกรถไฟฟ้า หรือรถน้ำมันก็ไม่มีอะไรผิดครับ ที่สำคัญคือเลือกรถที่เหมาะกับการใช้งานของเราต่างหาก
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ เห็นด้วย หรือเห็นต่าง สามารถคอมเมนท์คุยกันได้ด้วยเหตุผลอย่างสุภาพที่ใต้บทความเลยครับ
หวังว่าบทความนี้จะช่วยตอบคำถามได้ไม่มากก็น้อย และเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้านะครับ
สวัสดีครับ
ปล. ขอบคุณคุณกิมลองให้ ที่ทำคลิปการเปรียบเทียบความคุ้มที่จะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า เป็นไอเดียในการเขียนบทความนี้
https://www.youtube.com/watch?v=ddW3LYiqXwc&t=1142s
คุณกิมแจกตาราง Excel ให้ใช้สำหรับการเปรียบเทียบ ผู้ที่สนใจลองเข้าไปดูได้เช่นกันครับ
และขอบคุณคุณมิ้ลสำหรับข้อมูลภาษีครับ
ขอบคุณฮอนด้า และ NETA ที่มีเอกสารค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่ชัดเจนเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค
ตารางบำรุงรักษา Honda
https://www.honda.co.th/service/periodical-maintenance
ตารางบำรุงรักษา NETA V
https://www.neta.co.th/.../NETA%20V%20_Periodic...
ราคาประกัน
ราคายาง