One-Pedal หรือ "คันเร่งเดียว" หมายถึงการขับขี่โดยใช้คันเร่งเพียงอย่างเดียวได้ โดยรถจะเพิ่มความเร็วเมื่อกดคันเร่ง และจะลดความเร็วเมื่อยกคันเร่ง ซึ่งการลดความเร็วนั้น มากพอที่จะชะลอโดยไม่จำเป็นต้องเหยียบเบรค และสามารถชะลอจนถึง "หยุดนิ่ง" ได้
ซึ่งคันเร่งลักษณะนี้มักจะมีให้เลือกเฉพาะใน "รถไฟฟ้า" เท่านั้น เพราะมีฟังก์ชันที่เรียกว่า "Regenerative Braking" ที่จะเกิดเมื่อยกคันเร่ง โดยการ Regen จะแปลงพลังงานจลย์จากการหมุนของล้อ ไปเป็นกระแสไฟฟ้า และเก็บเข้าแบตเตอรี่ ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดแรงหน่วงจนล้อหมุนได้ช้าลง จนคล้ายการ "เบรค" นั่นเอง ซึ่งการหน่วง หรือระดับของ Energy Recuperation จะสามารถปรับระดับได้ตั้งแต่ มาก - น้อย และการหน่วงนี้เอง ที่มากพอจะใช้แทนการเบรคได้
ในขณะใช้ One-Pedal และยกคันเร่ง ไฟเบรคจะติดขึ้นมาหากชะลอด้วยแรง G ที่มากใกล้เคียงกับการเบรค ดังนั้นผู้ที่ขับตามหลังจะเห็นไฟเบรคตามปกติ เพื่อเตือนถึงการชะลอความเร็ว และหากการหน่วงชะลอไม่เพียงพอ สามารถเหยียบเบรคปกติได้ทุกเมื่อ
One-Pedal หรือการขับขี่แบบนี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ที่ขับรถสันดาปมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อได้ใช้งาน และปรับตัวไปซักระยะ จะชอบ และติดใจ เพราะความง่าย และเพิ่มความสะดวกสบายในการขับขี่ โดยเฉพาะเมื่อรถติด ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องละเท้าจากคันเร่งมาเหยียบเบรค เพียงยกเท้าเบา ๆ รถก็จะชะลอ และเพิ่มน้ำหนักเบา ๆ รถก็จะไปต่อ สามารถเคลื่อนที่ได้ละเอียดมากขึ้นที่ความเร็วต่ำ หากใช้ความเร็วที่เหมาะสม และรักษาระยะห่างคันหน้าได้ดี ตลอดการขับแทบจะไม่ต้องเหยียบเบรคเลย
นอกจากนี้ทั้งการขับขึ้นเนิน และลงเนินก็ยังคงขับแบบเดิม เมื่อปล่อยคันเร่ง รถจะหยุดไม่ไหลขึ้น ไม่ไหลลง เติมคันเร่งก็จะขยับต่อไป ขับได้เหมือนบนพื้นราบ
นอกจากสะดวก ยังช่วยในเรื่องการประหยัดพลังงานอีกด้วย เพราะการใช้ Regen แทนเบรค จะเปลี่ยนพลังงานจลย์กลับเป็นกระแสไฟฟ้าเพิ่มเข้าแบตเตอรี่ได้มากที่สุด
แต่ในการขับรถทางไกล ที่เราต้องการให้รถรักษาความเร็ว หรือไหลเมื่อยกคันเร่ง One-Pedal จะไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะเมื่อยกเท้าจะเป็นการหน่วงทันที และต้องคอยเร่งเพื่อรักษาความเร็ว ทำให้ไม่ประหยัดเท่าที่ควร
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รถบางรุ่นมีระบบที่เรียกว่า Adaptive Recuperation โดยจะปรับระดับความหน่วงให้เหมาะสมกับการจราจร โดยเมื่อใกล้รถคันหน้า รถจะปรับระดับความหน่วงมากสุด เพื่อชะลอให้เร็วที่สุด แต่เมื่อไม่มีรถคันหน้า การถอนคันเร่งจะไม่มีการหน่วง รถจะรักษาความเร็วให้ หรือ Coastingได้
ถึงรถไฟฟ้าทุกคันจะมี Regenerative Braking แต่ไม่ทุกคันที่มี One-Pedal (จนถึงจุดหยุดนิ่ง) โดยรถที่มี One-Pedal ได้แก่ AION, BMW, HYUNDAI, Mercedes, NETA, ORA, TESLA, Volvo ส่วนแบรนด์ที่ไม่มี เช่น BYD, MG, DEEPAL เป็นต้น
รถไฟฟ้าหลายรุ่น สามารถปรับความหน่วงได้มากพอที่จะขับแบบ One-Pedal ได้ แต่เมื่อความเร็วลดลงเหลือ 5-6 km/h รถจะไหลปกติเหมือนรถทั่วไป จนต้องเหยียบเบรคเพื่อชะลอ หรือให้หยุดนิ่งที่ความเร็วต่ำ
ซึ่งบางแบรนด์ให้เหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะเมื่อต้องเหยียบเบรคฉุกเฉินที่ความเร็วต่ำ การเอาเท้าไว้ที่เบรคเสมอนั้น คนขับจะตอนสนอง และเหยียบเบรคได้เร็วกว่าเท้าอยู่ที่คันเร่ง และการเอาเท้าไว้ที่คันเร่งนั้น จะมีโอกาสเหยียบผิดได้สูงกว่า ดังที่เคยมีข่าวบ่อย ๆ เรื่องการเหยียบคันเร่งแทนเบรค หรือ pedal misapplication ซึ่งหลายกรณีเป็นรถไฟฟ้าที่อยู่ใน One-Pedal Mode
หลายเสียงก็เห็นว่า One-Pedal ก็มีข้อดีด้านความปลอดภัยเช่นกัน ในกรณีที่ไม่ได้เหยียบอะไรเลย รถก็จะไม่ไหลไปไหน
อย่างไรก็ตามด้วยความสะดวกสบายของ One-Pedal ทำให้ผู้ซื้อรถไฟฟ้าจำนวนไม่น้อยที่เคยใช้ ไม่อยากจะกลับไปขับแบบปกติอีก และนับฟังก์ชัน One-Pedal เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะซื้อรถไฟฟ้าด้วย
คุณผู้อ่านคิดอย่างไรกันบ้างครับ ชอบ One-Pedal หรือคันเร่งแบบธรรมดาสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างสุภาพได้ที่คอมเมนท์ด้านล่างครับ
สุดท้าย
หวังว่าบทความนี้จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกรถไฟฟ้าได้นะครับ
สวัสดีครับ