รถไฟฟ้านั้นเมื่อชะลอความเร็ว มอเตอร์ขับเคลื่อนจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากการหมุนของล้อ และส่งไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ได้ และในระหว่างกระบวนการนี้จะเกิดแรงหน่วงที่ล้อ จนทำให้ความเร็วลดลงได้คลายกับการเบรค เราเรียกกระบวนการนี้ว่า "Regenerative Braking" หรือมักเรียกย่อ ๆ ว่า "รีเจน"
การรีเจนมีประโยชน์อย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยหน่วงความเร็วโดยไม่ต้องใช้เบรคแล้ว ยังได้พลังงานกลับมาในแบต เรามักจะเห็นผลได้ชัดเจนเมื่อขับลงเขา หรือทางลาดชันเป็นเวลานาน ซึ่งสามารถได้ SOC กลับมาถึง 5-10% เลยทีเดียว นอกจากนี้การรีเจนของรถไฟฟ้าบางรุ่นให้กำลังสูงสุดได้ถึง 65-120 kW หรือได้กำลังได้พอ ๆ กับ DC Fast Charge เลยครับ
เมื่อการลงเขา คือแรงโน้มถ่วงฉุดรถให้เคลื่อนที่จนล้อหมุน และเกิดการรีเจนจนได้ไฟกลับมา ดังนั้นหากเราจำลองการลงเขาด้วยการใช้ลาก เราก็สามารถได้ไฟกลับมาในหลักการเดียวกัน?
อย่างไรก็ตามวิธีนี้ Jason จาก Engineer Explained เคยทดลองไว้แล้ว ด้วยการใช้ Raptor ลาก Tesla Model 3 ด้วยความเร็ว 30 km/h
แต่ล่าสุด YouTuber ชื่อดังจากช่อง Warped จะทำการพิสูจน์ทฤษฏีนี้อีกครั้ง โดยจะใช้ Tesla Model S ที่มีการรีเจนด้วยกำลังสูงถึง 65 kW และจะใช้ความเร็วถึง 70 mph หรือ 112 km/h เพื่อให้เกิดการรีเจนสูงสุด
แต่การลากรถที่มีแรงหน่วงถึง 65 kW (87 แรงม้า) นั้นก็ต้องใช้รถที่มีกำลังพอสมควรที่จะเอาชนะแรงดังกล่าวได้ ดังนั้นในการทดลองเขาจึงใช้ E55 AMG ที่เป็นเครื่อง V8 ให้กำลัง 469 แรงม้า แรงบิด 700 Nm ในการลาก Tesla Model S ครั้งนี้ โดยจะลากที่ความเร็ว 70 mph เป็นระยะทางอย่างน้อย 10 miles
ในการทดลองเขาเริ่มจาก Model S ที่เหลือ SOC 14% ในขณะที่วิ่งไปได้ 20 miles Tesla Model S ชาร์จจากการรีเจน จนได้ SOC ถึง 44%! แต่ปรากฏว่า E55 นั้นน้ำมันหมดเกลี้ยง จนต้องแวะเข้าปั้มไปเติมน้ำมัน
ปรากฏว่าระยะทาง 20 ไมล์ หรือ 32 กม. E55 ใช้น้ำมันไป 15 ลิตร! หรือคิดเป็นประมาณ 2 km/L
หากจะลองคิดค่าใช้จ่าย P85D มีแบตเตอรี่ 80 kWh ชาร์จได้ 30% คิดเป็น 24 kWh ใช้น้ำมัน 15 ลิตร E55 จะใช้เบนซินซึ่งบ้านเราราคา 43.64 บาท คิดเป็นประมาณ 650 บาท หรือตกหน่วยละ 27 บาท ในการชาร์จไฟด้วยการรีเจนครั้งนี้
จนจบทริปวิ่งไปทั้งหมด 40 กม. ชาร์จจาก 14-55% หรือได้มาทั้งหมดถึง 41% จากการลากเพียงอย่างเดียว และรถยังคงทำงานได้ปกติ ไม่มีฟ้อง Alert ที่ผิดปกติเลย ซึ่งจากสถานการณ์นี้ คงใกล้เคียงกับการลงเขาที่ชันมากเป็นระยะทาง 40 กม.นั่นเอง
ดังนั้นเมื่อเกิดแบตหมดกลางทาง หากเราใช้การลาก เราอาจจะได้ไฟกลับมามากพอที่จะไปถึงสถานีชาร์จ หรือปลายทางด้วยตัวเองก็เป็นได้
วิธีนี้ทางเพจ All EV Service ได้เคยลงเอาไว้เช่นกัน โดย
"จะทำได้ก็ต่อเมื่อระบบ On ได้ และสามารถเข้าเกียร์ D ได้เท่านั้น!"
ทั้งนี้เพราะไฟที่ได้จากการรีเจน จะสามารถไหลเข้าไปเก็บในแบตได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นเกียร์อื่น กระแสไฟที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถไหลเข้าไปเก็บในแบตได้ เมื่อไฟไม่มีที่ไป ก็จะค้างสะสมเป็นความร้อนอยู่ในวงจร จนอาจจะทำให้บอร์ดไหม้ และอาจเกิดไฟไหม้ได้เลยทีเดียว!!
ถึงแม้วิธีนี้จะทำได้ก็จริง แต่ก็มีข้อถกเถียงกันว่าควรทำหรือไม่? บ้างก็ว่าสามารถทำได้ในความเร็วที่เหมาะสม บ้างก็ว่าไม่ควรทำเพราะจะเกิดความร้อนสูงทำให้ Inverter เสียหาย
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตรายไหน แนะนำให้ทำวิธีดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ดังนั้นการจะใช้วิธีนี้ผู้ใช้อาจจะต้องรับความเสี่ยงเองหากเกิดความเสียหาย ดังนั้นหากเกิดเหตุที่แบตหมดข้างทาง การเรียกรถสไลด์อาจจะเป็นทางออกที่ปลอดภัยที่สุดครับ
หวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์ และเป็นความรู้ใหม่ ๆ นะครับ
สวัสดีครับ
- Can You Charge A Tesla By Towing It? (With Ford Raptor)
https://www.youtube.com/watch?v=RaGVoB4Zn-Y
- Tow Charging Tesla at 70MPH for 25 miles