สำหรับผู้ที่สนใจ Model Y ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ดีมากครับ เพราะเป็นช่วงรอยต่อรุ่นปัจจุบัน กับ Juniper รุ่นปรับโฉม เราจะมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น และแน่นอนว่า Model Y รุ่นปัจจุบันจะมีดีลที่น่าสนใจแน่นอน สำหรับคนที่สนใจรุ่นนี้ หรือยังไม่รู้จัก Model Y เท่าไร รีวิวนี้เป็นข้อมูลที่ผมใช้เองเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน จะมาเล่าถึงข้อดี ข้อเสีย อะไรถูกใจ หรือปัญหาที่เจอ สุดท้ายยังคงน่าใช้ไหม ส่วนรุ่นปรับโฉมจะเป็นยังไง ควรรอ หรือไม่รอ มาตามอ่านได้ในบทความนี้ เป็นอีกหนึ่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อครับ
สำหรับผม จุดเด่นของเทสลามีหลาย ๆ เรื่อง ที่ดีกว่าแบรนด์อื่น ๆ ในหัวข้อต่อไปนี้ครับ
สำหรับรถไฟฟ้า หาก Hardware หรือ Software มีการทำงานผิดพลาดเพียงจุดเดียวที่เกี่ยวกับระบบ High Voltage (HV) ระบบจะตัดการทำงานของแบตเตอรี่ทันที “เพื่อความปลอดภัย” แต่ …นั่นก็จะหมายถึงรถขับต่อไม่ได้ และหาก Reset / Reboot Software ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็ต้องเรียกรถยกอย่างเดียว ซึ่งเป็นการทำลายทริปเลยทีเดียว ความเสถียรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับรถไฟฟ้า
ปัญหาที่เจอกันบ่อย ๆ ในรถไฟฟ้าทั้่วไป เช่น Low Voltage หมดจนต้องพ่วงแบต, Software ไม่เข้ากับบางตู้ชาร์จจนรถตัด, รถดับกลาง เป็นต้น สำหรับเทสลาเท่าที่ใช้มายังไม่เคยเจอปัญหาพวกนี้ครับ แม้ไปใช้ตู้ชาร์จที่มาเล ก็ยังใช้ได้ไม่มีปัญหา หรือสำหรับแบต LV หากต่ำ ระบบ DC2DC ก็ชาร์จให้ตลอดไม่เคยหมด และเทสลาเลือกใช้ Lithium 16V มีความทนทานมากกว่าแบต 12V ทั่วไป
เทสลาเริ่มทำรถมา 12 ปีที่แล้วตั้งแต่ Model S เรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกรถไฟฟ้าเจ้าแรก ผ่านการลองผิดลองถูก และแก้ปัญหามานับไม่ถ้วน ดังนั้นแทบจะทุกปัญหาที่รถแบรนด์อื่นเจอ เทสลาเจอมาก่อน และปรับแก้มาหมดแล้ว ดังนั้นรถเทสลาที่ขายในวันนี้ ผ่านการออกแบบทั้ง Hardware / Software มาอย่างดี และมีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่าวิ่งได้หลายแสนก็ยังไม่มีปัญหา จึงทำให้มีน้ำหนักว่า “เทสลา” เป็นรถที่เสถียรกว่าแบรนด์อื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ครับ
เทสลาต้องการให้ประสบการณ์ในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าดีที่สุด ดังนั้นแทนที่จะขายรถอย่างเดียว เทสลายังรับประกันความสะดวกสบายในการเดินทางด้วย ด้วยการให้เครือข่ายการชาร์จทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ใช้เทสลาเดินทางสะดวก นับเป็นแบรนด์เดียวในไทย ที่มีเครือข่ายการชาร์จบริการให้กับผู้ใช้รถ ซึ่งข้อดีของ Supercharger คือชาร์จได้เร็วเต็มประสิทธิภาพของรถ (และยังราคาถูกกว่ายี่ห้ออื่นอีก 12/2024) เพียง 25 นาที ก็ได้ 80% ทำให้ประหยัดเวลาเดินทาง และทำให้การเดินทางช่วงเทศกาลสะดวกสบายขึ้น เพราะไม่ต้องแย่งสถานีชาร์จกับคนอื่น เรียกว่าส่วนนี้เป็นข้อดีที่ยังไม่มีใครชนะในตอนนี้ครับ
ผมมีสถิติ และรายละเอียดเรื่องเวลาการชาร์จของ Supercharger ดูได้ที่หัวข้อการชาร์จด้านล่างเลยครับ
การเดินทางให้เร็วด้วย Supercharger https://bit.ly/3wk5L4g
ในตอนที่ผมใช้เทสลาช่วงแรก ๆ ผมไม่ได้รู้สึกว่า Software มันดีอะไร จนได้ไปลองใช้รถไฟฟ้าคันอื่น เจอปัญหามากมาย ฟังก์ชันจำเป็นบางอย่างก็ไม่มี Setting ไม่จำค่า กดยาก ไม่ตอบสนอง ฯลฯ เรียกว่าปวดหัวกับการใช้งานมาก จนทำให้รู้ว่า Software เทสลามันดีมาก
Software ที่ดีคือต้องใช้งานง่าย ตอบสนองการใช้งานของเราได้อย่างลื่นไหลไม่ติดขัด มีฟังก์ชันที่จำเป็นครบถ้วน มีฟีเจอร์อำนวยความสะดวกพร้อม ซึ่งเทสลาสอบผ่านหมด บางฟีเจอร์ที่ผมว่าแบรนด์อื่น ยังทำได้ไม่เท่าเช่น
ดูแลเรื่องระยะการวิ่ง
เทสลาทำให้เรื่องการคิดระยะทางง่ายขึ้น เช่น เมื่อตั้งที่หมายปลายทางที่ต้องการ คอมพิวเตอร์ก็จะการบอกให้ว่า แบตเตอรี่ที่เหลือ ถึงหรือไม่ ถ้าถึงเหลือเท่าไร ถ้าไม่ถึงต้องชาร์จที่ไหน และตัวเลขที่บอก ผ่านการคำนวนอย่างละเอียด แม้กระทั่งเอาการขึ้นลงเขามาคำนวนด้วย ซึ่งบอกได้แม่นมาก หากระหว่างเดินทางขับเร็วเกินไป จนแบตไม่พอ ก็จะเตือนว่าให้ขับความเร็วไม่เกินเท่าไร เพื่อให้ถึงปลายทางเป็นต้น นอกจากนี้เมื่อชาร์จอยู่ก็มีแจ้งหากว่าไฟให้ชาร์จอีกกี่นาทีเพื่อให้พอไปถึงจุดต่อไป เรียกว่าช่วยเหลือทุกขั้นตอน ถึงจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทำให้ประสบการณ์การใช้รถไฟฟ้าง่ายขึ้น ซึ่งรถน้อยคันจะมีฟังก์ชันนี้
บอกข้อมูลที่สำคัญ
เรื่องการจัดการพลังงาน เทสลาแจกแจงให้อย่างละเอียด ว่าไฟที่หายไปนั้น ใช้ไปกับอะไรบ้าง เช่นระบบขับเคลื่อน, แอร์, ทางชัน, อุ่นแบต, อื่น ๆ และจะสรุปให้ด้วยว่าในทริปนี้ เราเปลืองพลังงานจากการขึ้นเนิน และได้รีเจนคืนมาจากการลงเนินเท่าไร หรือแม้กระทั่งตอนจอด ก็บอกด้วยว่าหมดไปกับการ Standby เท่าไร เรียกว่า Software บอกได้ละเอียดมาก ทำให้การวางแผนแบต ง่ายขึ้น และทำให้รู้ว่าระบบจัดการพลังงานเขียนมาดีจริง ๆ
Sentry Mode - ช่วยเรื่องความปลอดภัย
ไม่ต้องติดกล้องบันทึกเอง เพราะมี Tesla cam บันทึกเหตุการณ์รอบคันขณะขับขี่กับกล้อง 4 ตัว และตอนจอดมี Sentry Mode บันทึกเหตุการอัตโนมัติเมื่อมีคนเดินเข้าใกล้รถ และสรุปเป็นเหตุการณ์ให้เรากดดูเมื่อกลับมาที่รถ หรือสามารถดู LIVE feed ผ่านมือถือก็ได้
การอำนวยความสะดวก
ฟีเจอร์ของระบบแอร์สะดวกมาก เช่น สามารถเปิดแอร์ตั้งอุณหภูมิทิ้งไว้ได้ แม้ไม่อยู่ในรถ (Keep Mode) มี Mode รักษาอุณหภูมิสำหรับสัตว์เลี้ยง (Dog Mode) หรือการเปิดแอร์สำหรับการนอนในรถ (Camp Mode) หรือสั่งเปิดแอร์ก่อนที่เราจะมาถึงรถก็ได้ เรียกว่าเปลี่ยนประสบการณ์การใช้รถแบบเก่ามาก ข้อนี้หลาย ๆ ยี่ห้อก็เริ่มทำได้แล้ว เรียกว่ามีเทสลาเป็นแรงบันดาลใจก็ไม่ผิด
Entertainment
มีให้ครบทั้ง Netflix, Disney plus, YouTube, , YouTube Music, Spotify, Tidal, Apple Music, etc. รวมถึงเกมต่าง ๆ ทำให้การรออยู่ในรถเฉย ๆ ไม่น่าเบื่อ เปิดแอร์ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมไปได้
รวมการควบคุมไว้ที่เดียว
เทสลารวบรวมการควบคุมทุกอย่างของรถไว้หน้าจอ และใช้ Software คุมทั้งหมดแทนปุ่มจริง เช่น ปรับแอร์ เปิดเครื่องเสียง ปรับกระจก หรือปรับพวงมาลัย ก็จะควบคุมผ่านหน้าจอทั้งหมด ซึ่งการใช้ปุ่มบนจอ ทำให้มีอิสระในการออกแบบ หรือเปลี่ยนวิธีการควบคุมได้ใหม่
ซึ่งแน่นอนว่าเป็นข้อดีของผู้ผลิต เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตปุ่มเหล่านี้ไปได้ และสามารถปรับเปลี่ยน เพิ่มลดการควบคุมได้ตามต้องการโดยไม่ต้องเสีย Cost ของ Hardware เพิ่ม
Update บ่อย (OTA)
ทำให้รถไม่ตกรุ่น สำหรับรถทั่วไป เราซื้อมาทำอะไรได้ ก็จะได้เท่านั้นตลอดไป แต่สำหรับเทสลา มีอัพเดท Software เพื่อเพิ่มความสามารถให้รถอยู่เรื่อย ๆ ทั้งการใช้งานทั่วไป เพิ่ม App และการทำงานของ Autopilot ทำให้รถไม่ตกรุ่น และฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ
หลายแบรนด์พยายามทำตามเทสลาก็เยอะ แต่ก็ทำได้แต่เรื่องหน้าตา UI เรื่องคุณภาพของข้อมูล หรือความแม่นยำก็ยังทำได้ไม่ครบเหมือนเทสลา ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำไม Software ของเทสลา ยังคงดีที่สุดในรถไฟฟ้าครับ
เทสลานั้นเป็นบริษัทเทคโนโลยี และ Ai มากกว่าบริษัทรถ เทสลามองว่ารถยนต์ในอนาคตจะต้องไปสู่การขับขี่อัตโนมัติได้ ดังนั้นเทสลาจึงมุ่งพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติให้กับรถเทสลาทุกคัน ซึ่งหากเทสลาทำสำเร็จ รถเทสลาทุกคัน จะสามารถขับได้เอง โดยที่คนขับจะเป็นเพียงผู้โดยสารเท่านั้น การเดินทางจะไม่ใช่เรื่องการขับรถ แต่จะเป็นเรื่องของการพักผ่อน และความบันเทิง เราสามารถเรียกรถมารับที่ไหนก็ได้ และระหว่างที่เราไม่ใช่รถ รถยังสามารถวิ่งไปรับผู้โดยสารหาเงินให้เราได้ด้วย นั่นคือ Ultimate Goal ที่เทสลาวางแผนไว้
โดยในปัจจุบัน ยังอยู่ที่ระบบ FSD Supervised (Full Self-Driving) v13 ที่รถสามารถพาเราออกจากที่จอด ไปปลายทางได้เอง โดยไม่ต้องมีการแทรกแทรงจากคนขับ แต่ยังคงต้องมีคนขับอยู่ เพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัย ในปีหน้าเทสลามีแผนจะพัฒนา FSD Unsupervised คือไม่ต้องใช้คนขับอีกต่อไป โดยจะเริ่มจาก Robotaxi และตามด้วยผู้ใช้เทสลาในเมือง California และ Texas เป็นการเริ่มต้น
เทสลา วางแผนจะใช้ FSD Supervised ให้กับรถเทสลาในปัจจุบัน (HW3-HW4) ทุกรุ่น ดังนั้นหากวันหนึ่งมาถึงไทย เราก็มีสิทธิจะได้คนขับส่วนตัว รถที่ใช้วันนี้ จะเป็นรถ taxi ส่วนตัวในอนาคตก็เป็นได้ครับ
ส่วนเทคโนโลยีที่มีใช้ได้ตอนนี้ คือระบบ Autopilot, Active Safety ต่าง ๆ ซึ่งเราจะรีวิวกันอีกหัวข้อต่างหากครับ
Mobile App
ของเทสลา ถือว่าดีที่สุด เพราะออกแบบมาอย่างดี การทำงานเร็ว ฟีเจอร์เยอะ และใช้งานง่ายมาก ๆ และสำหรับคนที่มาจากระบบ Analog จะชอบมาก เพราะจะเปลี่ยนวิถีการใช้รถ ให้สะดวกขึ้นมากมาย เช่น
การเปิดแอร์ไว้ล่วงหน้าก่อนขึ้นรถ - หมดปัญหาขึ้นรถแล้วร้อน เพราะเข้ารถมาก็เย็นพร้อมขับทันที
สั่งเปิดปิดรถได้ - ไม่ต้องกลัวว่าจะลืมล็อค และต้องเดินกลับมาดูอีกต่อไป เราเช็คได้ และสั่งเปิดปิดได้เลย
บอก Location ตัวรถ - ไม่ต้องกลัวจะลืมที่จอดรถ เพราะเราดูได้จากแผนที่เลยว่าจอดตรงไหน (พ่อบ้านอาจจะไม่ชอบ) นอกจากนี้ยังสั่งเปิดไฟสูงกระพริบ หรือกดแตรสั้น ๆ เพื่อบอกตำแหน่งรถคราว ๆ ได้อีกด้วย
ดูภาพจากกล้องรอบคันได้ทั้ง 7 ตัว - ดูได้ตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นรอบรถ หรือในรถบ้าง
สั่ง Start รถให้ขับได้ - หากเราอยากให้คนใช้รถเราเป็นเวลาสั้น ๆ เช่นเลื่อนรถ เราสั่ง Start จาก App ได้เลย และรถจะ Off เอง เมื่อคนขับลงจากรถ
นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันอื่น ๆ เช่น ตั้งเวลาชาร์จ ทำให้ใช้ wall charger อะไรก็ได้ไม่ต้องซื้อ Smart Charger เปิด frunk เปิด ปิดท้ายรถเป็นต้น
Phone Key
เราพก Smart Phone กันทุกคน ทำไมต้องพกกุญแจให้เป็นภาระอีก? ดังนั้นเทสลาจึงมีสิ่งที่เรียกว่า “Phone Key” ให้เราใช้สามารถใช้โทรศัพท์ ที่ลง Tesla App แทนกุญแจรถได้ เดินเข้าใกล้รถก็เปิดรถได้ หรือเมื่อเดินออกจากรถก็ปิดเอง ข้อดีคือทำงานได้เสถียรมาก ๆ ไม่ต้องลำบากมากดปุ่มอะไรเพื่อเปิดหรือล็อครถ หลายยี่ห้อพยายามทำตาม แต่ก็ไม่สะดวกเท่าเทสลาอยู่ดี ถ้ามือถือแบตหมด เทสลาก็ยังให้การ์ดคีย์ที่ใส่กระเป๋าตังได้มาอีก 2 ใบ ในกรณีที่ให้คนอื่นใช้งาน
ความดีของ Phone Key อีกอย่างคือ เราสามารถส่ง Digital Key นี้ ให้คนอื่นมาใช้รถได้ เช่นการปล่อยเช่า ลูกค้าลง Tesla App ไปที่รถ เปิด Invite ที่ส่งให้ผ่าน email ลูกค้าจะสามารถใช้รถของเราได้เช่นกัน หรือถ้าเรามีรถหลายคัน เราสามารถ Sync ค่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งเบาะ กระจก ไปยังรถอีกคันได้ทันที นอกจากนี้เราสามารถติดตามตำแหน่งรถผ่าน Tesla App ได้ และเจ้าของรถ สามารถ Remove ออกเมื่อไรก็ได้
Elon Musk มีแนวคิดที่ว่า ยิ่ง User มี input มากเท่าไร นั่นยิ่งหมายถึงความผิดพลาด รถเทสลาจึงพยายามออกแบบด้วยแนวคิดที่ลด User Input ให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายของผู้ใช้ เช่น
การตัดปุ่ม Start / Stop
เราจะกดไปทำไม ถ้าเราเข้าเกียร์ก็แปลว่าจะขับ ดังนั้นแค่เหยียบเบรค รถก็จะ Start (On) ให้ และเข้าเกียร์ขับได้เลย หรือเมื่อต้องการลงจากรถ ก็ใส่ P เปิดประตูออกได้เลย ไม่ต้องสนใจ รถก็จะ Off (Stop) เอง ซึ่งในวันแรก ๆ เราอาจจะรู้สึกเหมือนขาดอะไรให้ทำ แต่ใช้ไปซัก 1-2 วัน เราจะลืมไปเลย และเป็นประสบการณ์ที่สะดวกมาก ๆ จนหลาย ๆ คนที่ใช้รถเทสลา ไปขับรถคันอื่น ก็มักจะลืมล็อครถ หรือดับเครื่องกันเลยทีเดียว
ระบบทำงาน Auto
นอกจากนี้บางอย่างก็ใช้เทคโนโลยีมาแทน เช่นก้านเปิดไฟหน้า / ที่ปัดน้ำฝนก็ไม่จำเป็นต้องมี เพราะรถเปิดให้อัตโนมัติ
One-Pedal
คือการใช้คันเร่งเดียวในการขับ นับว่าเป็นอีกหนึ่งจุดขายของรถไฟฟ้า มีหลักการคือเหยียบคันเร่งก็เดินหน้าเพิ่มความเร็ว ถอนคันเร่ง รถหน่วงชะลอลดความเร็ว ด้วยระดับความหน่วงขณะถอนคันเร่ง มากพอให้ขับได้โดยไม่ต้องเหยียบเบรคเลย (นอกจากต้องการหยุดฉุกเฉิน)
ซึ่ง One Pedal ของเทสลามีจุดเด่นเหนือยี่ห้ออื่น ๆ คือ มีคันเร่งที่ Smooth และละเอียดมาก น้ำหนักเท้าเบา ๆ ก็คุมคันเร่งได้ตามที่ต้องการ เมื่อเรายกเท้าจะชะลอได้ถึงหยุดนิ่ง จังหวะใกล้หยุดจะเป็นการเบลนเข้าหาเบรค เพื่อหยุดรถได้อย่างนุ่มนวล แทบไม่รู้สึกถึงรอยต่อ
สิ่งที่ยากของ One-Pedal คือการขึ้น และลงเนิน เทสลาทำให้ OPD มีน้ำหนักใกล้เคียงกัน แม้จะอยู่บนเนิน หากเป็นทางขึ้น แตะคันเร่งก็จะขึ้นเนิน ปล่อยคันเร่ง รถก็ค่อย ๆ หยุด ไม่ต้องกังวลเรื่องรถไหล และสำหรับทางลง เมื่อแตะคันเร่งเบา ๆ รถจะไหลลงช้า ๆ ไม่ได้ไหลพรวดลงไปแบบรถปกติ (เทสลาจะใช้มอเตอร์หมุนถอยหลังเพื่อช่วยชะลอความเร็วในการไหลลง) และเคลื่อนตามน้ำหนักของเท้า
One Pedal ของเทสลา จะรักษาน้ำหนักเท้าให้ใกล้เคียงกันมากที่สุดทั้งทางราบ และเนิน นอกจากนี้เทสลา เป็นแบรนด์เดียวที่ใช้ OPD ทั้งเดินหน้า และถอยหลัง นับว่า One-Pedal ทำให้ประสบการณ์การใช้รถไฟฟ้าสะดวกขึ้น และต่างจากรถสันดาปครับ ใน Mode นี้หลายคนอาจจะไม่ชอบ แต่ถ้าฝืนใช้สัก 1-2 วัน จะเริ่มชิน และขาดไม่ได้เลยครับ
Handling
สำหรับ Model Y ถึงจะเป็นรถสูง แต่ก็ขับได้มั่นใจเมื่อใช้ความเร็ว พวงมาลัยกระชับ น้ำหนักกำลังดี ระยะฟรีน้อย รถเลี้ยวได้ตามมือ ขับดี แต่ก็ไม่ถึงขนาด iX3 รถนิ่งในความเร็วสูง ตัวรถมี Body Roll น้อย เลี้ยวเกาะโค้งได้ดีในความเร็วปกติไม่เกิน 120 กม/ชม. อัตราเร่งเหลือเฟือในทุกช่วงความเร็วปกติ (ไม่เกิน 160 กม/ชม.)
พื้นที่ใช้สอย
พื้นที่ใช้สอยถือเป็นจุดเด่นของ Model Y เลย มี Frunk ด้านหน้าขนาดใหญ่ ใส่ Carry-on ได้หนึ่งใบ Trunk ด้านหลังมีขนาดใหญ่เช่นกัน ใส่กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ได้ 3 ใบ และ Carry-on อีก 1 ใบ ด้านข้างซ้ายขวาหลังซุ้มล้อ มี pocket เล็ก ๆ ให้เก็บของจุกจิกได้อีก บริเวณที่มักใช้เก็บยางอะไหล่ แต่เทสลาไม่มี จึงกลายเป็นที่เก็บของอีก 2 ชั้นใหญ่ ๆ ใส่ carry-on ได้อีกใบ และยังใส่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้อีก เช่นปั้มลม ม่านพับ สายชาร์จฉุกเฉิน เบาะพับราบเพื่อใส่ของเพิ่ม หรือเอนเบาะผู้โดยสารหน้าใส่ของที่ยาว ๆ ได้อีก
ส่วนภายในรถ มีที่เก็บของจุกจิกได้เยอะ Center Console และที่วางแขนที่ลึก ข้างประตูรถก็ยังมีเก็บของได้อีกทุกบาน อันนี้ดีกว่า G6 และ HT เรียกว่าเหมาะสำหรับคนมีของเยอะ ๆ
คุณภาพอากาศภายในรถ
Model Y ใช้ Filter HEPA ในการกรองอากาศ ซึ่งเป็น Filter เกรดเดียวกับโรงพยาบาล สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ และกรอง Particle ขนาด 0.3 Micron ได้สบาย ๆ เหมาะสำหรับคนเป็นภูมิแพ้ที่ไวต่อฝุ่นละออง ซึ่งถือว่ารถน้อยคันมากที่จะมีฟังก์ชันแบบนี้
การเก็บเสียง และเครื่องเสียง
เทสลาใช้กระจก Accoustic 2 ชั้นทุกบาน ทำให้ห้องโดยสารเงียบ เก็บเสียงได้ดี
ตัวอย่างการกรองอากาศของ HEPA ฟิลเตอร์ ในสภาพจำลองอากาศที่เลวร้าย
หัวข้อนี้เป็นเรื่องเด่นที่สุดของเทสลาเลย ถึงเทสลาจะเป็นบริษัทรถหน้าใหม่ แต่ด้านวิศวะกรรมไม่แพ้ใคร และอาจจะดีกว่าหลาย ๆ แบรนด์ทางยุโรปด้วยซ้ำ
คว่ำยาก - Model Y ออกแบบให้มี Center of Gravity ที่ต่ำ ทำให้คว่ำยาก
Model Y ผ่านการชนที่ยากที่สุดคือการชนเพียงส่วนเดียวแคบ ๆ ของหน้ารถ (Small overlap crash test) เช่นการหลบเสา หรือคอสะพาน แต่ไม่พ้น ทำให้ชนเข้ากับ 1/4 ของหน้ารถ การชนแบบนี้ยากเนื่องจากแรงที่กระทำจะไม่ผ่าน Crush rail หรือคานรับแรงกระแทก แต่ส่งแรงเข้าห้องโดยสารโดยตรง สำหรับ Model Y มีการออกแบบเผื่อไว้แล้ว หากชนลักษณะดังกล่าว โครงสร้างที่ออกแบบไว้ จะดันรถออก ให้แรงกระแทกไม่ผ่านห้องโดยสาร ทำให้ได้คะแนนดีมากในจุดนี้
หลักคาของรถเทสลาแข็งแรงมาก ๆ เคยมีกรณีที่แข็งแรงขนาดทำให้เครื่องทดสอบ Hydraulic ที่กดหลังคาพังเลยทีเดียว
มีอีกตัวอย่างของถุงลมนิรภัยในเทสลาที่ Elon Musk พูดให้ฟังในรายการของ Joe Rogan ว่า เทสลาคำนวนน้ำหนักที่กดลงบนเบาะอย่างละเอียด เพื่อบอกว่าผู้นั่งเป็นใคร ผู้ใหญ่ เด็ก ผู้ชาย ผู้หญิง นั่งตรงไหนของเบาะ องศาการนั่งหันไปทางไหน และจะคำนวน Real Time และปรับการจุดระเบิดของถุงลม ให้เหมาะสมกับตำแหน่งผู้โดยสารที่นั่งบนเบาะ และยังมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา และอัพเดทให้รถทุกคันด้วย OTA เรียกว่าน่าทึ่งที่แม้แต่ความปลอดภัย ก็ยัง OTA ได้ Elon Musk บอกอีกว่า เรื่องความปลอดภัย เราไปไกลกว่ามาตรฐาน ตอนนี้ได้ 5 ดาว แต่ถ้ามี 6 ดาว เราก็จะได้ 6 ดาว ดังนั้นเรื่องความปลอดภัย ไว้ใจเทสลาได้แน่ ๆ ครับ
สำหรับ Model Y ได้ Top Safety Pick+ 6 ปีซ้อน จาก IIHS สถานบันทดสอบที่เข้มงวดที่สุด และยังได้ 5 ดาว EURONCAP อีกด้วย
การนัดจาก App
รถเทสลา เป็นรถที่ไม่ต้องการบำรุงรักษา เพราะฉะนั้นศูนย์บริการ จึงมีไว้เพื่อแก้ปัญหาส่วนมาก ดังนั้นหากต้องการเข้ามาที่ศูนย์บริการ ให้นัดผ่าน App ระบุอาการที่ต้องการแก้ปัญหา เลือกวันเวลาที่ว่าง และกด Request Service ได้เลย ถึงเวลา ก็เดินทางมาตามนัดเท่านั้นเอง แต่หากเป็นปัญหาเร่งด่วน สามารถ Walk-in เข้ามาได้เช่นกัน
1 Day Service
เทสลามีนโยบายว่า Service จะต้องเสร็จใน 1 วัน และหากใช้เวลานานกว่า 1 วัน จะมีรถ Loaner ให้ใช้ โดยไม่ต้อง Request เลย
เช็คสถานะการซ่อม
การ Service สามารถดู Status การซ่อมได้ใน App ว่าถึงขั้นตอนไหนแล้ว และจะเสร็จเมื่อไร
การเคลมอะไหล่
ก่อนจะใช้เทสลา เคยเจอไหมครับ เวลาอะไหล่บางชิ้นมีปัญหา แล้วเอาเข้าศูนย์บริการ แต่ต่อหน้าช่าง ปัญหาดันหายไปเอง แน่นอนครับเค้าก็จะไม่เคลมให้เรา แต่กับศูนย์เทสลาไม่เป็นอย่างนั้น
การเคลมอะไหล่นั้นง่ายมาก หากอาการตรงกับใน Service Manual ก็จะเปลี่ยนให้ทันที โดยไม่ต้องรีเควสอะไร
ผมเคยเจอปัญหากล้องซ้ายดับประมาณสิบนาที เมื่อ Calibrate กล้องใหม่ ก็กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม แต่ทุกความผิดปกติ Computer จะมี Alert ขึ้น และเก็บเป็น Log ไว้ในรถเสมอ ดังนั้นหากศูนย์เช็ค Log แล้วว่ามีปัญหาจริง ก็จะเคลมให้เราเลย แม้ว่าตอนอยู่กับช่างจะไม่มีอาการก็ตาม ซึ่งถือว่าดีมาก ๆ และเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากในแบรนด์อื่นครับ
ในหัวข้อนี้ จะเป็นสถิติ และประสบการณ์จากการใช้งานจริงครับ
นี่เป็นส่วนที่เทสลาเด่นมาก ๆ มอเตอร์นั้นให้กำลังสูง แต่กลับประหยัดพลังงานเหมือนรถไฟฟ้า ECO และใช้ไฟในความเร็วสูงน้อยกว่ายี่ห้ออื่น ทำให้วิ่ง 100-120 กม/ชม. ก็ยังคงวิ่งได้ไกล นอกจากนี้ดีไซน์มอเตอร์ของเทสลาเป็นแบบแช่ในน้ำมัน ทำให้การระบายความร้อนทำได้ดีมาก เมื่อรีดกำลังหนัก ๆ หรือขึ้นเขา มอเตอร์ก็ยังกำลังไม่ตก ไม่ได้ร้อนง่าย ๆ (นอกจากเอาลงสนามแข่ง)
นอกจากนี้เทสลายังมีการจัดการพลังงานที่ดีด้วย
เรามาดูการกินไฟในการเดินทางไกลทีความเร็วต่าง ๆ เป็นดังนี้
100 km/h ~ 130-140 Wh/km
110 km/h ~ 150-160 Wh/km
120 km/h ~ 170-190 Wh/km
โดยปกติรถไฟฟ้าจะกินไฟมากเมื่อใช้ความเร็ว ในรถไฟฟ้าบางรุ่นวิ่ง 120 km/h จะกินได้ถึง 220-260 Wh/km เลย แต่สำหรับ Model Y กินไฟอยู่ประมาณ 180-190 Wh/km ซึ่งถือว่าทำได้ดีสำหรับรถ SUV และหากคิดเป็นระยะวิ่งจะได้ (1000/190) x 75 = 395 กม. ซึ่งถือว่ายังเป็นรถที่วิ่งเร็วได้ โดยระยะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้งานได้.
Model Y เคลม 533 กม. WLTP (623 กม. NEDC) ใช้งานจริงได้เท่าไร?
สำหรับในหัวข้อนี้ ผมเก็บข้อมูลการวิ่งที่ผมใช้เองทั้งหมดตั้งแต่ มิ.ย. 23 - ก.ย. 24 มีข้อมูลกว่า 2000 drive record มาคำนวนเป็นการใช้พลังงาน และระยะวิ่งเฉลี่ยในแต่ละเดือน มาหา Consumption และนำมาคิดระยะวิ่งจากความจุแบตเตอรี่ โดยใช้สูตรต่อไปนี้
Consumption (Wh/km) = (1000 x ปริมาณไฟ (kWh)) / ระยะทาง (km)
ระยะวิ่ง = (1000 / Consumption) x ความจุแบต
หรือรวบสูตรได้ว่า
ระยะวิ่ง = ความจุแบต (75) x (ระยะทาง (km) / ปริมาณไฟที่ใช้ (kWh))
เช่น
เดือนนี้วิ่งได้ 2000 กม. ใช้ไฟไป 400 kWh
ระยะวิ่ง = 75 x (2000 / 400) = 375 กม. เป็นต้น
โดยได้ผลดังนี้
สรุปข้อมูล
จากข้อมูล 16 เดือน ผลปรากฏว่า หากเอาระยะวิ่งของทุกเดือนมาหาค่าเฉลี่ย จะได้ระยะวิ่ง 440 กม.
โดยเดือนที่มากที่สุดคือ พ.ย. 23 ได้ 478 กม.
เดือนที่ได้น้อยที่สุดคือ เม.ย. 24 ได้ 364 กม.
ทั้งสองเดือนนี้ มีอะไรต่างกัน?
เดือน พ.ย. 23 เป็นเดือนที่ผมขับไปสิงคโปร์ 4000 กม. แทบจะทั้งเดือนเป็นการใช้แบบทางไกล Highway และเป็นเดือนที่อากาศไม่ร้อน
เดือน เม.ย. 24 เป็นเดือนที่ผมใช้ในกรุงเทพเท่านั้น โดยการใช้งานส่วนใหญ่อยู่ในเมือง และอากาศร้อนถึง 40 องศา
จากข้อมูลนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อระยะวิ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
ความเร็วที่ใช้
การวิ่ง Highway การกินพลังงานเฉลี่ยจะน้อยกว่าในเมือง และจะได้ระยะวิ่งที่มากกว่า
อุณหภูมิ
อุณหภูมิสูง จะทำให้ระยะวิ่งน้อยลง เนื่องจากพลังงานถูกใช้ไปกับแอร์ และจะเห็นผลชัดเจนเมื่อวิ่งความเร็วต่ำ หรือการใช้งานรถติดในเมือง แต่หากวิ่งทางไกล จะไม่ได้ต่างกันมากขนาดนั้น
(ในกราฟ ผมใส่อุณหภูมิเฉลี่ย ของทุก Drive มาให้ดูเบื้องต้นครับ ไม่ใช่อุณหภูมิสูงสุดในเดือนนั้น)
ระยะวิ่งจริง ต่างจากการทดสอบเท่าไร
ในบทความนี้ เราได้ระยะวิ่ง 440 กม. Tesla ระบุระยะวิ่ง Model Y Long Range ตามมาตรฐานต่าง ๆ ดังนี้
NEDC 623 กม. (ปัจจุบันเอาออก เปลี่ยนเป็น WLTP)
NEDC 533 กม. (ใช้แสดงหน้าเว็บ และแสดงผลในรถ)
EPA 500 กม. (แสดงในเว็บ US 311 mi)
จะเห็นว่าผลลัพธ์ที่ได้ 440 กม. ถือว่าได้น้อยกว่าทุกมาตรฐานในที่นี้
ในบทความก่อน ๆ มีสูตรหาระยะวิ่งจริงคือ NEDC x 0.7
หากลองคำนวนดู 623 x 0.7 = 436 กม.
ปรากฏว่าผลที่ได้ถือว่า "ใกล้เคียง" ผลลัพธ์ในบทความนี้มาก คลาดเคลื่อนเพียง 0.9% เท่านั้น
ดังนั้นการหาระยะวิ่งจริงเบื้องต้น การเอา NEDC x 0.7 ก็เป็นการคำนวนคร่าว ๆ ที่อาจจะตรงกว่าที่คิดครับ
สรุป
เทสลา เป็นรถที่ประหยัดพลังงานมาก โดยเฉพาะวิ่งทางไกล ผมสามารถขับได้ 500 กม. ได้ไม่ยาก แต่หากใช้งานในเมือง โดยเฉพาะอากาศร้อน จะค่อนข้างกินพลังงานมาก และระยะวิ่งจะลดลง
หรือพูดอีกแง่คือเทสลา เป็นรถที่ "ระบบขับเคลื่อน" ประหยัดพลังงานมาก แต่ "ระบบปรับอากาศ" ไม่ประหยัดเท่าไรโดยเฉพาะสภาพอากาศที่ร้อนครับ
ผมสังเกตุว่า SOH (State of Health) ของแบตเตอรี่ ค่อนข้างตกลงเร็วมากในช่วงแรก ๆ รถผมวิ่งไป 35000 กม. SOH เหลือ 93% ระยะวิ่งหายไป 40 กม.
เทสลาได้โพสข้อมูลการเสื่อมของแบตเตอรี่ใน Model Y / 3 ทั่วโลกไว้ดังนี้
จากกราฟจะเห็นว่าที่
25,000 กม. SOH จะอยู่ในช่วง 92-99%
50,000 กม. SOH จะอยู่ในช่วง 90-95%
100,000 กม. SOH จะอยู่ในช่วง 88-92%
200,000 กม. SOH จะอยู่ในช่วง 83-90%
ถ้าอิงจากกราฟนี้ขับไป 25000 กม. ก็เสื่อมไปเกือบ 10% แล้ว ระยะวิ่ง 533 กม. ก็หายไป 53 กม. แล้ว และหากเป็นรุ่น RWD ที่แบตเล็ก ระยะวิ่งก็จะน้อยลงอีก ดังนั้น หากระยะวิ่งสำคัญ อาจจะต้องพิจารณาส่วนนี้ประกอบด้วยครับ
สำหรับรถผมก็ยังอยู่ใน Range นี้ของเทสลา ก็ถือว่าน่าจะยังปกติ
สำหรับคนที่ตกเกิน 70% ในช่วงรับประกันแบต 8 ปี หรือ 192,000 กม. ก็จะได้เปลี่ยนใหม่ครับ
แต่ที่น่าสงสัยคือ ค่ายอื่นก็ควรจะมีอัตราการเสื่อมแบบเดียวกัน แต่หลายคันยังมี SOH ที่ดี เมื่อวิ่งแตะหลักแสน จึงชวนให้สงสัยว่า ค่ายอื่นจะเสื่อมน้อยกว่าแบตของเทสลาจริง ๆ หรือบอกค่าไม่ตรงกันแน่
Model Y Long Range มีสเปคในการชาร์จคือ กำลังสูงสุด 250 kW ซึ่งควรจะเร็วมาก ๆ
แต่ปรากฏว่าผมแทบจะไม่เคยเห็นเลข 250 kW บนจอเลย? และก็มารู้ทีหลังอีกว่า 250 kW จะได้ก็ต่อเมื่อ SOC ต่ำระดับ 4-6% และมีให้เห็นแค่ไม่กี่ “วินาที” เท่านั้น และกำลังจะตกลงเป็นเส้นตรงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเหลือ 100 kW กว่า ๆ ที่ 50% จนเฉลี่ยการชาร์จทั้ง session จาก 5-85% ได้กำลังเฉลี่ย 123 kW กับเวลาชาร์จ 33 นาที ซึ่งก็ถือว่าเร็วกว่ามาตรฐาน แต่ก็ไม่ค่อยเป็นอย่างที่คาดหวังเท่าไร
Supercharger ไม่ได้หาได้ง่าย ๆ ทั่วไป ดังนั้นตู้ที่เราจะได้ใช้บ่อย ๆ จะเป็น EV Pluz 120 kW ซึ่งรถรับได้ 250 kW อย่างน้อยชาร์จได้ 120 kW ก็ยังถือว่าเร็ว แต่ปรากฏว่าชาร์จกับตู้นี้ แม้จะชาร์จคันเดียว ก็ไม่เคยได้เกิน 80 kW เลย!
ผมถามผู้รู้ช่วงนั้นบ้างก็ว่าติด Low priority บ้างก็ว่าอุณหภูมิไม่เหมาะสม สุดท้ายมาถาม “น้าหมา” จนมารู้ทีหลังว่า “ไม่ใช่” เพิ่งเข้าใจว่า กำลังสูงสุดมันต้องดูกระแสของตู้ชาร์จ และแรงดันจากแบตด้วย โดย มาจากสูตร
กำลังชาร์จ (kW) = กระแส (A) x แรงดันของแบต (V)
ดังนั้นเทสลามีแรงดันแบต 355V (nominal) ส่วนตู้ EV Pluz จ่ายกระแสได้ 200A ดังนั้น
355V x 200A = 71 kW
นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม ตู้ EV Pluz ถึงได้ไม่เคยเต็ม 120 kW สักที
อยากชาร์จได้กำลังมากกว่านี้ ก็ต้องไปตู้ที่จ่ายกระแส สูงกว่านี้ เช่น ELEXA, PEA 360 ซึ่งเป็นตู้ส่วนน้อย
ผมลอง Plot Graph ในการชาร์จ Supercharger และ EV Pluz ที่ SOC ต่าง ๆ ได้ดังนี้ครับ
ดังนั้นสรุปได้ว่ารถเทสลา จะชาร์จได้เร็ว เดินทางได้เร็ว ก็เฉพาะกับ Supercharger เท่านั้น หากไปชาร์จตู้ทั่วไป จะช้ามาก ส่วน 250 kW จะได้ก็ต่อเมื่อ SOC ต่ำ ๆ และกำลังจะตกลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเทสลายังคงเป็นระบบ 400V และกำลังจะเสียเปรียบรถรุ่นใหม่ ๆ ที่เป็นระบบ 800V ซึ่งชาร์จได้เร็วกว่าในตู้ 200A (ขึ้นอยู่กับ Curve ด้วย) ดังนั้นเรื่องการชาร์จ รถเทสลาจะได้เปรียบยี่ห้ออื่น ก็ต่อเมื่ออยู่กับ Supercharger เท่านั้นครับ
สลับยางทุก 10,000 กม.
เปลี่ยน HEPA (เมื่อหมดอายุ)
เปลี่ยนถุงดูดความชื้นแอร์ทุก 4 ปี
ตรวจน้ำมันเบรคทุก 4 ปี (เปลี่ยนหากจำเป็น)
ทำความสะอาด และหล่อลื่น Caliper ทุก 20,000 กม. (เนื่องจากรถไฟฟ้าไม่ค่อยได้ใช้เบรค)
ตั้งแต่ใช้รถมา จ่ายค่าสลับยางที่ศูนย์ 336 บาทเท่านั้น
ถึงเทสลาจะไม่ได้บอกให้บำรุงรักษาอะไรนอกเหนือจากตารางนี้ แต่ก็เป็นเรื่องดีที่จะล้างแผงคอยร้อนเอียงอย่างสม่ำเสมอ เพราะตัวแผงไม่เหมือนกับรถทั่วไป เอียง 45 องศา ทำให้อาจมีสิ่งสกปรกเข้าไปติดเป็นปกติตามการใช้งาน ซึ่งหากอุดตัน ก็อาจจะเป็นเหตุให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักได้ ซึ่งผมไปใช้บริการกับน้าหมาบ่อย ๆ นอกจากเร็ว รอรับได้แล้ว ยังได้เห็นวิธีการทำ และได้ความรู้เกี่ยวกับเทสลาอีกเยอะมาก ล่าสุดล้างแผง coil ร้อน และเปลี่ยน cabin filter ของเทสลา รวม 2000 บาท ถ้าสนใจติดต่อไปได้เช่นกันครับ
รวมค่าใช้จ่าย 336 + 2000 = 2336 บาทครับ
กล้องซ้ายดับ - เป็นอาการประจำ Model Y ครับ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเกือบทุกคัน ถึงเทสลาจะออกแบบระบบมาดี แต่อะไหล่ที่หลุด QC ก็ยังคงเกิดขึ้นได้ครับ แต่ก็เคลมได้ง่าย ๆ ถ้าอยู่ในประกันครับ
กระจกตกร่อง - กระจกฝั่งคนนั่งด้านซ้าย ตกจากราง ทำให้ปิดประตูแล้วกระจกกระทบเฟรม ซึ่งเป็นอาการประจำรุ่นเช่นกันครับ อาการนี้ผม Service ที่ศูนย์ ไม่ถึง ชม.ก็เสร็จ แต่หลายท่านเรียก Mobile Service ไปบริการให้ที่บ้านก็ได้เช่นกันครับ
TPMS - อยู่ ๆ TPMS ก็ Offline ไป ศูนย์จึงเปลี่ยนอันใหม่ให้ครับ เพราะอยู่ในประกัน
พวงมาลัยขยับซ้าย-ขวาได้นิดหน่อย ทางศูนย์เช็คแล้วพบว่า Rack พวงมาลัยขยับเกินกว่ามาตรฐาน จึงเปลี่ยน Rack ไฟฟ้าใหม่ให้เลย
ปัญหาเล็กน้อย
มีเสียงสั่นบริเวณกระจกขณะวิ่ง - ปรากฏว่าเป็นที่ฝาครอบกล้องหน้าไม่แน่น จึงทำให้กระทบกับกระจก เวลารถผ่านถนนที่ไม่เรียบ อาการนี้ช่างติดโฟมเพิ่มเพื่อไม่ให้พลาสติคชนกับกระจก อาการก็หายครับ
เปิดประตูคนขับ มีเสียงกิ๊ก ๆ เบา ๆ - ช่างเปลี่ยน Swing Arm ให้ หายชั่วคราว แต่ก็กลับมาเป็นอีก แต่ผมก็ช่างมัน ทุกวันนี้เงียบไปเองแล้ว
Shock ฝาท้ายมีเสียงขณะปิด - ช่างเปลี่ยน Shock ให้ใหม่ หายไปแปปนึง กลับมาเป็นอีก ทุกวันนี้ก็ยังดัง ผมไปลองฟังคันอื่น อ่าวเป็นเหมือนกัน เลยช่างมันครับ
ทุกครั้งที่เข้าฟรีหมดครับ ไม่มีค่าใช้จ่าย และครั้งที่ซ่อมค้างคืน คือเปลี่ยน Swing Arm ประตู ตอนนั้นได้ Model Y Performance มาใช้ครับ ซึ่งถือว่าดีมากที่มีรถสำรองขณะซ่อม แต่ข้อเสียคือ ดันไม่มีประกัน
ในการทำงาน เทสลาจะใช้กล้องในการประมวณผล เรียกว่า Tesla Vision ไม่ใช้ Sensor ชนิดอื่นอย่าง Radar หรือ LiDAR มาช่วย
Autopilot ประกอบไปด้วยสองส่วนคือ TACC - Traffic Aware Cruise Control หรือ ACC ที่เป็นการคุมคันเร่ง และอีกส่วนคือ Autosteer ที่เป็นการบังคับพวงมาลัย หรือบังคับทิศทาง และเมื่อสองส่วนนี้ทำงานพร้อมกัน จึงเหมือนกับว่ารถสามารถขับเองได้ จึงได้ชื่อว่า “Autopilot” นั่นเอง ซึ่ง Autopilot หรือแม้แต่ FSD เอง ก็ยังถือว่าเป็น SAE-Level2 ที่ระบบแค่ช่วยเหลือ และคนขับจะต้องพร้อมเข้าควบคุมครับ
ในคลิปนี้ เป็นตัวอย่างของการใช้ Navigate on Autopilot จากพระราม 2 ไปยังบางนา ซึ่งในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ประสิทธิภาพไม่ต่างจาก Basic Autopilot ครับ
ในการใช้งาน เราสามารถเปิด TACC อย่างเดียวได้ แต่จะไม่เรียกว่าเป็น Autopilot เรียกว่า Adaptive Cruise ธรรมดา หากกดก้านลงสองครั้ง (หรือตั้งได้ว่าครั้งเดียว) เพื่อเปิด Autosteer ด้วย ถึงจะเป็นการทำงานของ Autopilot ครับ
ในการใช้งานจริง ส่วนของ TACC นั้น ไม่ได้เด่น และออกไปทาง “แย่” ด้วยซ้ำ รถติดไหล ๆ ก็ออกตัวกระชากจนเวียนหัว ตอนหยุดก็ไม่นุ่มนวล หากมีรถกินเลนเรามา ก็จะเบรคหัวทิ่มทั้ง ๆ ที่ผ่านได้ แม้รถที่กำลังจะมาแทรกก็เบรคหัวทิ่ม ที่แย่ที่สุดคือ “Phantom Braking” หรือเบรคโดยไม่มีเหตุที่ถูกต้อง เรียกว่าส่วนนี้ รถญี่ปุ่นยังทำได้ดีกว่ามาก นอกจากนี้หากเจอ "เงา" หรืออะไรที่ระบบ Vision เข้าใจผิดว่าเป็นรถ ก็จะเบรคเหมือนกัน ซึ่งต่างจากระบบ Radar / LiDAR ที่จะไม่มีปัญหาส่วนนี้
อีกส่วนที่เจอคือ หากวิ่งเป็นคันแรก และเจอรถติดไฟแดง กว่ารถจะเริ่มเบรคช้ามาก ต้องเข้าใกล้มาก ๆ ถึงจะเริ่มเบรค ซึ่งหวาดเสียว และอันตรายมาก ทั้ง ๆ ที่รถ Detect เจอคันหน้าแล้ว แต่ก็ควรเบรคให้เร็วกว่านั้น
ล่าสุด Tesla Update ฟีเจอร์ที่ช่วยชะลอตรงทางโค้งให้ ถือว่าส่วนใหญ่ทำได้ดี แต่ในการใช้งานต่างจังหวัดพบว่า อยู่ ๆ ระบบชะลอแม้เป็นทางตรง ซึ่งอันตรายมาก ๆ คิดว่าฟีเจอร์นี้ ไม่น่าจะใช่ Ai แต่เป็นการ Input จากทีมงานลงไปบนแผนที่มากกว่า
แต่ส่วนที่ทำให้ Autopilot นั้น “ดี” กว่ายี่ห้ออื่นคือส่วนของ Autosteer ที่สามารถทำงานได้แม่น มั่นคง และไว้ใจได้ ในเส้นทางเกือบทุกแบบ โดยเฉพาะทางโค้ง ระบบแบบนี้ถ้าเคยลองใช้ยี่ห้ออื่นจะสังเกตุว่า ทางโค้งที่มากหน่อย จะเลี้ยวไม่เข้า และข้ามเลนไปเลย หรือถ้าเลี้ยวได้ก็ความเร็วช้ามาก นั่นเป็นเพราะว่า แรงในการช่วยหมุน (Steering Torque Limit) มีจำกัด แต่สำหรับ Autosteer จะไม่เป็นแบบนั้น และเข้าได้เกือบทุกโค้ง (ด้วยความเร็วที่เหมาะสม)
ในระบบของรถทั่วไปจะใช้กล้องอ่านตำแหน่งรถ และเส้นด้านข้าง หากรถเอียงไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่ง จะแก้พวงมาลัยกลับมา ซ้ำไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ปิงปอง” ซ้ายขวาตลอดเวลา หรือในทางโค้ง รถจะยังไม่เลี้ยวจนเข้าใกล้เส้นฝั่งนอกโค้ง รถถึงจะเริ่มเลี้ยว เมื่อไม่พ้นก็จะเริ่มเลี้ยวเพิ่มเป็น Step ระบบแบบนี้ทำให้การเลี้ยวช้ากว่าที่ควรจะเป็น และเมื่อเจอโค้งแบบ S-Curve ก็มักจะไม่ผ่านในโค้งที่สอง และทะลุไปเลย
แต่การทำงานของ Autosteer นั้นต่างออกไปมาก โดยระบบจะหาช่องทางที่ควรวิ่ง โดยอิงจากเส้นจราจรเป็นหลัก และวางแผนเส้นทางการขับขึ้นมา (Path Planning) และจะวางแผนล่วงหน้าประมาณ 5-10 วินาที โดยจะตีเป็นเส้นสีฟ้าคู่ ขึ้นที่หน้าจอ Visualization (หรือเส้นเดี่ยวเมื่อใช้ NOA) และรถจะเลี้ยวตามเส้นที่วางแผนไว้ จึงทำให้เลี้ยวได้เหมาะสมในพวงมาลัยวงเดียว เลี้ยวได้ถูกจังหวะ ไม่ช้าเกินไป ทำให้รถเกาะโค้ง และยังผ่าน S-Curve ได้สบาย ๆ ที่ดีคือแม้เส้นขาดหายบางช่วง ระบบก็ยัง “เดา” ช่องทางที่ควรเป็นทางวิ่ง และยังทำงานต่อได้
แต่ถึงจะทำงานได้ดี ข้อจำกัดของ Autosteer คือ การอยู่ในเลนอย่างเดียว บางเส้นที่มีกรวยบีบเลน ระบบจะไม่เอากรวยมาคิด และจะวิ่งชนกรวย หรือมีรถเบียดเลนมา ก็จะไม่สนใจ ยังคงจะวิ่งตรงกลางเลนอยู่ตลอด และจะเบียดแน่นอนถ้าไม่ยกเลิกระบบ หรือหากกล้องหน้าจับได้ก่อน ก็จะเบรคหัวทิ่ม เมื่อเส้นไม่ชัดบางกรณี เส้น Path จะสับสนซ้ายทีขวาที ทำให้พวงมาลัยหมุนซ้ายขวาตามเส้น ซึ่งอันตรายมาก ใน Version ใหม่ ถ้าเกิดอะไรที่ไม่ชัดเจน ระบบจะชิงยกเลิกก่อนเลย
ด้วยความที่ Autopilot ช่วยได้มาก จึงทำให้คนขับมีส่วนร่วมน้อย NHTSA หน่วยงานด้านความปลอดภัยของสหรัฐเห็นว่า ระบบแบบนี้ไม่ปลอดภัย เพราะคนขับจะละเลยการควบคุม จึงบังคับให้เทสลาทำอะไรซักอย่างให้แน่ใจว่าคนขับ ยังตั้งใจขับอยู่ เทสลาจึงคิดระบบจับสายตา และมาตรการ Strike ขึ้นมา ซึ่ง …ทำให้ Autopilot น่าใช้น้อยลง
ระบบนี้จะจับสายของผู้ขับขี่ ถ้าก้มมองมือถือ ก็จะเตือน มองจอกลาง (สายตามองไปทางจอ) ก็จะเตือน วิธีการแก้คือ ต้องปรับท่านั่งใหม่ สายตามองตรงถึงจะยอมทำงานต่อ แต่หากถูกเตือนบ่อยขึ้น เพียง 3-4 ครั้ง จะ Strike เลย โดยตัดไม่ให้ใช้ Autosteer ตลอดทั้งทริป และหัก Quota ที่มีคันละ 5 ครั้ง เหลือ 4 ครั้ง หากภายใน 1 อาทิตย์ไม่ถูกลงโทษซ้ำ จะคืน Quota +1 ให้ แต่ถ้าถูกหักหมด 5 คะแนน จะใช้ Autosteer หรือ FSD ไม่ได้อีกเลย 1 อาทิตย์
โดยหลักการก็ฟังแล้วดูดี แต่ในทางปฏิบัติมันไม่เข้าท่าเลย เพราะมองจอกลางก็ถูกเตือน แต่เทสลากลับรวมการควบคุมทกอย่างที่จอกลาง นั่นหมายถึงมองแผนที่ ปรับแอร์ก็ไม่ได้ ถ้าการมองจอกลางคืนอันตราย ไม่มองถนน ซึ่งก็ผิดตั้งแต่ดีไซน์แล้ว? เป็นการลงโทษที่ย้อนแย้ง และน่าหงุดหงิดมาก หากถนนเป็นโค้งไปด้านซ้าย แน่นอนว่าเรามองถนนต้องหันไปทางจอ แต่กลับถูกเตือน!? เพราะระบบคิดว่ามองจอ ไม่ได้มองถนน! เรียกว่าระบบการเตือนแบบใหม่ ไม่ฉลาด และทำให้การใช้งานน่าหงุดหงิดมากขึ้นครับ
นอกจากนี้ Autopilot ควรจะช่วยเราได้เรื่องความปลอดภัย เช่นการละสายตาจากถนนชั่วคราวดูแผนที่ ปรับแอร์ ในวินาทีเหล่านั้น Autosteer ยังบังคับให้รถอยู่ในเลนได้ แต่กลายเป็นว่าหากไม่อยากถูก Strike ก็ต้องกดยกเลิกระบบก่อน ค่อยปรับ ยิ่งกลายเป็นการละสายตาที่ไม่มีอะไรช่วยควบคุม กลับยิ่งอันตรายมากขึ้น เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดซักเท่าไร
ช่วยเหลือได้จริงกว่า 80% ของถนนทางไกล
เข้าโค้งได้เกือบทุกโค้งที่ไม่มากเกินไป
ผ่าน S Curve ได้
มีช่วยชะลอทางโค้ง
ทำงานได้เร็ว กดเปิดแล้วทำงานได้เลย
ออกตัวแรง เบรค หัวทิ่ม นั่งแล้วเวียนหัว
Phantom Braking เบรคไม่มีสาเหตุ
รถแทรกไม่หลบ จะเบรคหัวทิ่มแทน
หากเป็นรถนำ และเจอรถติดไฟแดง เบรคช้าเกินไป
ชะลอทางโค้งทำงานผิด
ระบบจะหลุด หากแก้ไขพวงมาลัย
ระบบตรวจจับ Lane less ยังทำได้ไม่ดี
วิ่งกลางเลนตลอด ไม่สนใจเลนข้าง ๆ
ระบบตรวจจับสายตา ผิดพลาด น่ารำคาญ
ถึงจะมีข้อเสียบ้าง แต่โดยรวม Autopilot ยังคงเป็นระบบช่วยเหลือที่ดีกว่าทุกยี่ห้อในตอนนี้ครับ (ในไทย)
เทสลามี option ให้ซื้อ Enhanced Autopilot (EAP) จ่ายเพิ่ม 122,000 บาท สำหรับรถ HW3 จะได้ครบ 5 อย่างคือ Summon, Smart Summon, Auto Lane Change, Navigate on Autopilot, Auto-park แต่สำหรับรถ HW4 จะมีแค่ Auto Lane Change และ Navigate on Autopilot 2 อย่างเท่านั้น เนื่องจากเป็น Software เก่าที่ยังอ้างอิง Ultra Sonic Sensor อยู่ เดี๋ยวมาไล่กันทีละอย่างครับ
Summon
ใช้บ่อยสุด และใช้ได้จริง สั่งถอยเข้าออกในที่แคบ ๆ ได้ สะดวกมาก ๆ
Smart Summon
99% ใช้ไม่เคยได้ดังใจ ไม่เคยมาอย่างที่ควรจะเป็น และการหลบสิ่งกีดขวาดทำได้แย่มาก อันตราย และไม่ควรใช้ ปัจจุบันมี Version Update ที่เรียกว่า Actually Smart Summon ที่ใช้ได้จริง วิ่งหลบรถที่สวนได้ ขับหลบคนได้ หยุดให้คนข้ามได้ หยุดตามป้ายได้ แต่ Software เวอร์ชันไทย ยังไม่เปิดให้ใช้ครับ
Auto Lane Change
ดีตรงเปลี่ยนเลนแล้วไม่ต้องออกจาก Autopilot การเปลี่ยนเลนจะดูรถเลนข้าง ๆ ให้ เมื่อปลอดภัยจึงเปลี่ยน ส่วนใหญ่ใช้ได้ แต่ถ้าเลนข้าง ๆ อยู่ไกล แต่วิ่งมาเร็วมาก ระบบเห็นว่าห่าง ก็จะออกไป กลายเป็นตัดหน้า ต้องระวังจุดนี้ และการเปลี่ยนเลนที่ความเร็วต่ำ เหวี่ยงไปนิด ไม่เป็นธรรมชาติ
Navigate on Autopilot
ใช้จริงไม่ค่อยได้ เพราะในการใช้จริง Auto Lane Change เปลี่ยนเลนไม่สำเร็จซะส่วนมาก (รถไม่ให้เข้า) ทำให้สุดท้ายต้องขับเองอยู่ดี แต่ NOA ดีตรง ชะลอที่ทางโค้งให้แบบเป็นธรรมชาติ
อ่านเพิ่มได้ที่นี่ https://bit.ly/4cASjdd
ดูคลิปทดสอบได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=QGmh6Shw6DM
Auto-park
พอใช้ได้ ไม่ได้เร็วเหมือนจอดเอง แต่ก็ไม่ได้ช้าจนทนไม่ได้ การหลบสิ่งกีดขวางไม่แม่น (มีคนในกลุ่มหลายคนชนเสา) ปัจจุบันมีตัวใหม่ออกแล้ว เป็น Vision Parking สามารถเลือกช่องจอดได้ จอดได้เร็ว และน่าใช้มาก แน่นอนว่า Software ไทยยังใช้ไม่ได้
ส่วน EAP ควรซื้อไหม สำหรับ HW4 ผมไม่ค่อยแนะนำเท่าไร เพราะที่ใช้จริงน่าจะเหลือแค่ Auto lane change แต่ถ้าคิดว่าแค่นี้โอเคแล้ว ก็สามารถซื้อได้ครับ
เป็นฟีเจอร์ที่ต้องเพิ่มอีก 244,000 บาท แต่ในไทยยังใช้ไม่ได้ตอนนี้
ผมได้ลองไปใช้ที่ US / CA ปรากฏว่าทุกเรื่องที่ผมบ่นเกี่ยวกับ Autopilot จะไม่เกิดขึ้นใน FSD เลย
การทำงานของ FSD จะแตกต่างจาก Autopilot โดยระบบจะมองหา Drivable Space หรือพื้นที่ ๆ รถวิ่งได้ และจะสร้าง Path Planning หรือเส้นทางที่รถจะวิ่ง ขึ้นมาตามที่ว่างที่สามารถวิ่งได้ ตามความหมายของสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีเส้นจราจร ก็สามารถทำงานได้ เส้นถนนเป็นเพียงข้อมูลที่จะเลือกใช้หรือไม่ก็ได้
เช่น ในกรณีที่เป็นทางก่อสร้าง มักจะมีการตั้งกรวยเพื่อให้เป็นทางเบี่ยง FSD ก็จะเข้าใจความหมายนี้ และเลือกจะวิ่งตามกรวย ไม่ใช่ตามเส้นถนน หรือมีรถจอดขวาง FSD ก็จะเข้าใจว่าต้องอ้อมสิ่งกีดขวางนั้นไป
นอกจากนี้ FSD ยังเข้าใจสิทธิในทาง (Right of Way) เมื่อเราอยู่ในเลนที่มีสิทธิมากกว่า รถก็จะใช้สิทธินั้น และไม่ได้หยุดให้รถที่จะมาแทรก นอกจากนี้ยังเข้าใจกฏจราจรที่ซับซ้อน เช่นวงเวียน ที่ต้องสลับกันไปได้ด้วย นอกจากนี้เมื่อการมองเห็นของกล้องมีจำกัด รถสามารถขยับไปด้านหน้า เพื่อให้เห็นถนนชัดขึ้น ก่อนการตัดสินใจเลี้ยวได้อีกด้วย
เรียกว่า การทำงานส่วนใหญ่ยอดเยี่ยมมาก และช่วยเหลือได้จริง ๆ ทุกอย่างทำได้เหมือนมนุษย์มาก ใช้แล้วไม่เครียด
แต่น่าเสียดายว่าในไทยยังไม่มีกำหนดที่จะใช้ได้ในเร็ว ๆ นี้ ถ้ามาไทย ผมเชื่อว่าใช้ในเมืองที่มีมอเตอร์ไซด์ไม่ได้ แต่นอกจากนั้นใช้ได้หมด ซึ่งจะช่วยได้แน่นอน และดีกว่า Autopilot ฟ้ากับเหว ถ้าใช้ได้ในไทย เป็นฟีเจอร์ที่แนะนำให้ซื้อเลยครับ
ในตัวอย่างด้านล่าง เป็นตัวอย่างการใช้งานสั้น ๆ จะเห็นว่าในเส้นทางง่าย ๆ แบบนี้ คนขับไม่ต้องแทรกแซงเลย
อย่างไรก็ตาม ถึง Model Y จะมีข้อดี แต่ก็มีบางเรื่องขัดใจ หรือน่าจะทำได้ดีกว่านี้ บางเรื่องก็เป็นข้อเสีย ดังหัวข้อต่อไปนี้ครับ
ช่วงล่างของ Model Y ถ้าใช้งานในเมืองความเร็วต่ำ อาการเด่นที่เป็นประเด็นใหญ่เลยคือ อาการ “โยก” ซ้ายขวา ค่อนข้างรุนแรง ผมเคยวางน้ำอัดลมกระป๋องที่เปิดกินแล้วแล้วเอาไว้ในช่องวางแก้ว เจอหลุมธรรมดา แต่รถโยกจนน้ำกระฉอกออกมาได้ การเซ็ทช่วงล่างแบบนี้ทำให้ขับแล้วเหนื่อย นั่งไม่สบาย โดยเฉพาะคนข้างหลัง อาจจะเมารถได้ แต่ถ้ารถนั่งเต็ม 5 คน และมีสัมภาระท้าย อาการที่ว่าจะหายไปหมด เหมือนกับทางเทสลา จงใจ set ให้เป็นช่วงล่างสำหรับบรรทุกหนัก มากกว่าการนั่ง 1-2 คน ด้วยปัญหานี้ทำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ไปเปลี่ยนโช็คกัน (แต่ก็ทำให้ช่วงล่างขาดประกัน ทำให้ต้องเสียเงินเปลี่ยนบูชกันเอง) ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังว่าไม่หายขาด แต่ก็แก้ให้ดีขึ้นกว่าของเดิมมาก ส่วนตัวผมยังไม่ได้เปลี่ยน ผมยังทนได้อยู่ เพียงแต่คนอื่นไม่อยากนั่งด้วยเท่านั้น (คาดว่าจะถูกแก้ใน Juniper)
ด้านหลัง - กระจกหลังเหลือช่องเล็กมากเนื่องจากท้ายลาด กระจกมองหลัง ก็ยังเล็กมากเช่นกัน เรียกได้ว่าทัศนะวิสัยด้านหลัง แทบจะไม่เห็นอะไรเลย ต้องแก้ปัญหาด้วยการดูผ่านกล้องเท่านั้น
ด้านหน้า - เนื่องจากเป็นรถสูง ด้านหน้ารถ และซุ้มล้อหน้าเป็นจุดบอด เทสลาไม่มีกล้องหน้า และกล้องใต้กระจกข้าง จึงต้องพึ่ง Ultra Sonic Sensor กะระยะ หรือใช้ Tesla vision จำลองสภาพแวดล้อมแบบ blob 3D มาดูแทน พอเห็นคร่าว ๆ แต่ก็ไม่ชัดเจน ว่ามีอะไรหรือไม่ ทำให้การขับลำบากพอสมควร
ด้านข้าง - กระจกมองข้างเล็ก และมองได้ไม่กว้าง ต้องแก้ปัญหาด้วยการมองจากกล้องข้าง (Repeater) เอา
ถึงจะมีกล้อง 9 ตัวรอบคัน แต่กล้องทุกตัวก็เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมสำหรับระบบ Autopilot / FSD ทำให้มุมของกล้องเน้นส่องออกจากรถให้เห็นได้ไกล ต่างจากกล้องสำหรับช่วยจอดที่จะส่องลงพื้น และล้อ ด้วยเหตุนี้เทสลาจึงไม่สามารถจำลองภาพ 360 มาให้ใช้งานได้ ซึ่งถือว่าทำให้ใช้งานลำบากขึ้นมาก
สำหรับการขับในเมือง ไม่คล่องตัวเท่าไร ขับลำบากในที่แคบ และไม่มีกล้อง 360 มาช่วยเหลือ วงเลี้ยวกว้าง จะกลับรถต้องตีวงเผื่อ ฐานล้อยาว ทำให้ล้อหลังเลี้ยวไม่พ้นง่าย เป็นจุดที่ครูดฟุตบาทเป็นประจำ เรียกว่า Model Y ทุกคัน น่าจะมีแผลที่ล้อหลังกันไม่มากก็น้อย ถ้า Model Y มีระบบเลี้ยว 4 ล้อ แบบ Cybertruck จะแก้ปัญหาได้เยอะ ทำให้เลี้ยวแคบ คล่องตัว และโอกาศครูดฟุตบาทต่ำลง
สิ่งที่ต้องระวัง สำหรับล้อ 19" ฝาครอบล้อนั้นไม่ได้ครอบถึงขอบล้อ หากขูด ก็จะโดนขอบไปด้วย แนะนำให้เปลี่ยนฝาครอบ จะช่วยได้มากครับ
เทสลา ไม่ใช่รถที่เด่นเรื่องความสบายในห้องโดยสารเท่าไร เรื่องฟีเจอร์ความสบาย ยังสู้รถจีนไม่ได้ เบาะหน้านั่งได้ก็จริง แต่เบาะรองขาสั้นไปนิด ไม่มีเบาะเป่าเย็น นั่งทางไกล ถ้าใส่ขายาว จะอบ ๆ ขาหน่อย (จะมีใน Juniper)
ส่วนเบาะหลัง เรียกว่าเทียบรถจีนไม่ติด พนักพิงเอนได้อยู่ในองศารองรับแผ่นหลังที่ดีก็จริง แต่ไม่มากเท่า G6 / HT เบาะรองขาสั้นเกินไปมาก ทำให้เบาะไม่ได้ช่วยรับน้ำหนักต้นขาเท่าที่ควร ทำให้เมื่อย ส่วน leg room ไม่มีปัญหากว้างเหลือเฟือ แต่โดยรวมไม่สบายเท่า G6 / HT ส่วนแอร์ด้านหลังรุ่นนี้ยังปรับความแรงพัดลมแยกจากข้างหน้าไม่ได้ ข้างหลังอยากได้แรง ข้างหน้าก็ต้องเร่ง หรือข้างหลังอยากเบาข้างหน้าต้องหรี่ ไม่สะดวกเท่าไร (จะแก้ไขใน Juniper)
ส่วนแอร์ในเทสลาเย็น แต่ไม่ฉ่ำแบบรถญี่ปุ่น การปรับให้เย็นต้องปรับลงไปถึง 20 องศา ในขณะที่รถญี่ปุ่นปรับ 25 องศาก็หนาวแล้ว ส่วนช่องลมไฟฟ้าแบบซ่อน จะไม่ได้เป่าเต็ม ๆ แรง ๆ สะใจแบบช่องลมปกติ บางคนแก้ปัญหาลมเป่าน้อย ด้วยการถ่างช่องแอร์ให้กว้างขึ้น การปรับบังคับทิศ ไม่ได้แม่นยำเท่าไร และสำหรับหน้าร้อน ถ้าไม่ติดม่าน ก็ยังเย็นได้ แต่ไม่ฉ่ำ และแอร์จะทำงานหนักมาก กินไฟเยอะผิดหูผิดตา และระยะวิ่งจะลดลงมากครับ ส่วนตัวผมว่าแอร์กินไฟเยอะเกินไปครับ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้วิ่งในเมืองแล้วกินไฟมาก
ส่วนแอร์ในที่นั่งหลัง พัดลมจะต้องตาม Setting หลักไม่สามารถแยกได้ (แก้ใน Juniper)
บอกได้ว่า “ร้อน” ติดฟิล์มยังไงก็เอาไม่อยู่ แนะนำม่านอย่างเดียว สำหรับผมชอบม่านพับ เพราะพับเก็บได้ในหน้าหนาว แต่ม่านมือ ม่านไฟฟ้า จะสะดวกที่เลือกเปิดปิดเมื่อไรก็ได้ แต่เปิดสุดจะไม่กว้างเท่าเดิม จะมีขอบหนาด้านข้างขึ้นมา หากอยากถอด ก็อาจจะทำไม่ได้ง่าย ๆ ต้องติดยาว ซึ่งส่วนนี้ควรจะมีมาให้แต่ต้น ไม่ควรให้ต้องมาติดเองเลย
การปรับ Auto มักจะปัดเร็วกว่าที่เราต้องการ สุดท้ายต้องเลือกเอง การปัดเป็นระยะ มีให้เลือกน้อยมาก นอกจากนี้ใบปัดเมื่อใช้ไปได้ซักระยะ จะปัดกระโดด และเริ่มมีเสียง ทางแก้เดียวคือเปลี่ยนใบใหม่ของ 3rd party แทน
Supercharger จะเป็นจุดเด่นของผู้ใช้ ก็ต่อเมื่อทำเลที่ตั้ง สะดวก (ผู้ใช้) เข้าถึงง่ายจากเส้นทางหลัก แต่ในบางเส้นทาง เช่นสายเหนือ ผมเคยทดสอบเดินทางไปเชียงใหม่ด้วย Supercharger อย่างเดียว ปรากฏว่าใช้เวลาแวะชาร์จแค่ 22 นาที ซึ่งน่าประทับใจมาก แต่กลับใช้เวลาอ้อมไปอีก 40 นาที ซึ่งน่าเสียดายมากครับ
นี่เป็นเวลาที่ผมใช้กับ Supercharger สายเหนือ จะเห็นว่าชาร์จแค่ 22 นาทีเท่านั้น
นี่เป็นเวลาที่ใช้ในการอ้อมไป Supercharger กำแพงเพชร
และนี่เป็นเวลาที่ใช้อ้อมไป Supercharger ลำปาง
สรุปแล้วสายเหนือ ใช้เวลาแวะชาร์จแค่ 22 นาที ซึ่งน่าประทับใจมาก แต่กลับใช้เวลาอ้อมไปอีก 40 นาที ซึ่งน่าเสียดายมากครับ
ถ้าอยากอ่านรายละเอียดต่อ ผมมีแยกต่างหาก อ่านได้ที่นี่
การเดินทางไปเชียงใหม่ด้วย Supercharger https://bit.ly/3DbajgN
ระบบแอร์
มีแนวโน้มจะเสียเร็ว (รถ Grey หลายคนเริ่มทะยอยเสียที่ไม่กี่หมื่น กม.ก็มี) เพราะต้องทำงานหนักทั้งการ Cool battery และทำความเย็นให้ห้องโดยสาร และการประกันของเทสลามีแค่ 4 ปี หรือ 80,000 กม. เท่านั้น ถ้าใคร ถ้าใครเสียหลังหมดประกัน ราคาก็แตะแสนบาทเลยทีเดียว เพราะต้องเปลี่ยนทั้งชุด อาจจะต้องพิจารณาส่วนนี้ประกอบด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการยืดอายุ compressor ให้ได้นานสุด อย่าเปิดแอร์ในรถขณะชาร์จ DC เพราะ compressor จะต้องทำงานหนักทั้งการระบายความร้อนแบต พร้อมกับห้องโดยสารครับ
อะไหล่บางอย่างไม่ทนเท่าที่ควร
เช่น บูชปีกนกที่หลายคนเริ่มมีปัญหาเมื่อผ่านไปแค่ 4-5 หมื่นโล ส่วนนี้เป็นชิ้นส่วนสึกหรอก็จริง แต่ก็ควรทนกว่านี้ หากหมดประกัน ก็นับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น และราคาค่อนข้างสูง และใครเปลี่ยนโช็คมา ก็จะถูกปฏิเสธการเคลม ถึงการบำรุงรักษาตามตารางจะต่ำ แต่อะไหล่ที่เสียเร็วกว่ากำหนด อาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงได้ครับ
การซ่อมตัวถัง
ถือว่าไม่นานถ้าซ่อมทั่วไป แต่ถ้าชนหนัก ที่ต้องเบิกอะไหล่เยอะชิ้น อันนี้หลาย ๆ ท่านเจอว่านานจริงครับ อาจจะ 1-6 เดือนก็มี แล้วแต่อู่ที่ซ่อมด้วย ดังนั้น ถ้าชนเยอะ คงต้องทำใจว่ามีสิทธิเป็นเดือนแน่นอนครับ
ค่าซ่อมแพง
อะไหล่เทสลาบางชิ้นถูก เช่น แบต Lithium LV 16V ราคาหกพันกว่าบาทเท่านั้น หรือมอเตอร์ขับเคลื่อนทั้งลูกไม่ถึงแสน แต่อะไหล่ Body part บางอย่างกลับแพงมาก กันชนเป็นรอยแตก แต่ราคาประเมิณเป็นหมื่น ๆ ราคาประเมิณซ่อมของเทสลาแพงอย่างน่าตกใจ ตัวอย่างที่สหรัฐ รถเทสลาถึงชนไม่ได้หนัก แต่ด้วยค่าซ่อมที่แพง ประกันก็มักจะตีเป็น Total loss หรือคืนทุนไปเลย เรียกว่าเป็นรถที่ขาดประกันไม่ได้ และส่วนนี้ ทำให้ราคาเบี้ยไม่ถูกสักที
ราคาประกัน
เทสลาเป็นรถที่เบี้ยประกันราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่ราคามือ 1 ตกลงเรื่อย ๆ ทุนประกันลดลงเรื่อย ๆ ในแต่เบี้ยกลับเพิ่มขึ้นอย่างในแต่ละปีแบบไม่สมเหตุสมผล ส่วนนี้ถ้าเทสลาเข้ามาทำประกันเอง น่าจะได้ราคาที่ดีกว่านี้ครับ
ระบบของรถเสถียร (Reliable)
Supercharger Network
Software มี UX / UI ดีเสถียร
ตัวรถมีเพิ่ม feature ทุกปี Update Software บ่อย ไม่ล้าสมัย ไม่ตกรุ่นง่าย
Technology เหนือคู่แข่ง
รถแรง และประหยัดพลังงาน
Mobile App เร็ว ยอดเยี่ยม
มี Phone Key ไม่ต้องพกกุญแจ
Entertainment ครบ Netflix / Disney+ / YouTube etc.
มี Camp Mode ทำงาน หรือนอนในรถได้
Space ในห้องโดยสารกว้าง รถจุของได้เยอะ Frunk / Trunk
เครื่องเสียงดี ห้องโดยสารเก็บเสียงดี
Filter HEPA กรองกลิ่น กรองฝุ่น ได้ขนาด 0.3 Micron
One Pedal คันเร่งละเอียด ใช้งานง่ายทั้งขึ้นลงเนิน
Autopilot ใช้งานได้จริง และดีที่สุด
มี Tesla Cam / Sentry Mode
ดูกล้องในรถได้ Real-time จากมือถือ
ความปลอดภัยโครงสร้างยอดเยี่ยม
ศูนย์บริการดี มีรถสำรองขณะซ่อม (ปัญหาการผลิต)
เคลมง่าย
ช่วงล่างโยก เวียนหัว นั่งไม่สบาย
ทัศนวิสัยไม่ดี จุดบอดเยอะ กระจกมองข้างเล็ก
ไม่ใช่รถที่คล่องตัวในเมือง เลี้ยวกว้าง ล้อขูดง่าย
ไม่มีกล้อง 360
ออกแบบ Minimal เกิน ไม่ใช่รถหรู ไม่เนี๊ยบ
หน้าร้อนแอร์กินไฟมาก ระยะวิ่งลดเร็ว
แอร์ต้องเปิดแรงถึงจะเย็น
เบาะหลังนั่งไม่สบาย รองขาสั้น เอนได้น้อย
TACC ไม่ smooth กระชาก / หัวทิ่ม
Auto park ยังเลือกช่องไม่ได้
Smart Summon 95% ไม่เคยใช้ได้จริง
น้ำหนักเบรคแข็งไม่ธรรมชาติ
Regen แรงเกิน ไม่มี Adaptive Regen
ชาร์จเร็วเฉพาะ supercharger ตู้ธรรมดาชาร์จช้า Curve ตกเร็ว
Supercharger ส่วนใหญ่อ้อม
Compressor มีแนวโน้มเสียเร็ว
SOH ลดเร็ว
ค่าซ่อมแพง
ประกันแพง
ประกันตัวรถน้อยเกินไป 4 ปี 80,000 กม.
ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลจากประสบการณ์ใช้งาน Model Y Long Range มาเป็นเวลาเกือบ ๆ 2 ปีครับ ซึ่งก็มีทั้งข้อดีที่ชอบ และข้อเสียที่อยากให้ปรับปรุง บางอย่างก็รู้มาก่อน บางอย่างก็เพิ่งรู้หลังจากใช้งาน ดังนั้นน่าจะเป็นเรื่องดีหาก คนที่กำลังจะซื้อ ได้ข้อมูลจากคนที่ใช้อยู่ก่อน เพื่อเป็นอีกแนวทางประกอบการตัดสินใจ
จะเห็นว่าข้อดีก็มี ข้อเสียก็เยอะ หากถามว่าถ้าย้อนกลับไปได้ จะซื้อไหม? ผมก็ยังจะซื้อเหมือนเดิมครับ เพราะข้อเสีย ก็ไม่ได้ร้ายแรงจนรับไม่ได้ และข้อดี ก็ยังมีเพียงพอที่จะทำให้ชอบรถคันนี้ครับ
หลาย ๆ แบรนด์ที่ออกรถมา Size ใกล้เคียงกับ Model Y ก็มักจะถูกเปรียบเทียบว่าเป็น Model Y Killer ไปซะหมด รถไฟฟ้าจีนหลาย ๆ รุ่น ลบข้อด้อยของ Model Y ได้ในเรื่องความสบายในห้องโดยสาร การชาร์จ หรือกล้องรอบคัน แต่ข้อดีอื่น ๆ ยังไม่สามารถทำได้เหมือน Model Y ทั้งหมด แต่รุ่นที่น่าสนใจที่จะใกล้เคียง Model Y Killer จริง ๆ ส่วนมากที่ค่ายอื่นขาด จะเป็นเรื่อง Software เป็นเรื่องหลัก แต่ค่ายจีนที่น่าสนใจช่วงนี้ ก็จะมี HYPTEC HT และ XPENG G6 แต่รุ่นที่ Software จะใกล้เคียงเทสลา และอาจจะเป็น Model Y Killer ได้น่าจะเป็น XPENG G6 เพราะระบบ Software ความลื่นไหล การตอบสนอง หลาย ๆ อย่างทำได้ใกล้เคียง Model Y และหลาย ๆ ฟีเจอร์ ถูก Push ให้ดีกว่า เช่น X-Pilot ที่ให้เรื่องการเปลี่ยนเลนมาด้วย และทำได้ดีกว่า หรือ Summon ที่สามารถจอดเองได้ โดยคนขับไม่ต้องอยู่ในรถ เรียกว่าด้านเทคโนโลยี สูสีกับเทสลามากครับ
ปรับปรุงช่วงล่างใหม่
เชื่อว่าอาการโยกจะหายไป หรืออาจจะได้ช่วงล่าง Adaptive มาในรุ่นย่อย
ไม่มีคันเกียร์ และไฟเลี้ยว
การเปลี่ยนเกียร์ใช้ปรับที่จอ และฟีเจอร์ Shift out of Park ที่เดาเกียร์ให้เอง ในการใช้งานจริง ไม่ได้ลำบากขนาดนั้นครับ แต่กรณีที่ต้องกลับรถที่แคบ เดินหน้าถอยหลังสลับกันบ่อย ๆ ต้องละมือมาเลื่อนที่จอ แบบนั้นช้ากว่า และไม่สะดวกครับ ส่วนตัวชอบแบบเก่ามากกว่า
ส่วนไฟเลี้ยวปรับที่พวงมาลัย ส่วนตัวผมว่าใช้ให้ชินได้ แต่ชินไม่ได้แปลว่าสะดวก ส่วนนี้ผมชอบแบบเดิมมากกว่าครับ
เบาะเย็น (Ventilated Seat)
อันนี้ดีงามมากครับ เบาะเป่าลมเย็นเหมือน HL สามารถเลือกลมเย็นได้ 3 ระดับ
ไฟ Ambient
จอควบคุมด้านหลัง
ทำให้บังคับแรงลมแอร์ต่างจากด้านหน้าได้ ลมแอร์แรงกว่าเดิม ปรับทิศทางได้ง่าย แม่นกว่าเดิม สามารถเลื่อนเบาะหน้าฝั่งผู้โดยสารเพื่อเพิ่ม Leg room ได้ ดูหนังได้ ควบคุมเพลงได้ ส่วนตัวผมว่าจอนี้ ช่วยให้ผู้โดยสารหลังสบายขึ้นมากครับ
ลู่ลมมากขึ้น วิ่งได้ไกลขึ้น
การออกแบบด้านหน้าใหม่ จะช่วยให้ค่า Cd ต่ำลงอีก ทำให้ลู่ลม กินไฟน้อยลง และได้ระยะวิ่งเพิ่มขึ้นครับ
แบตใหญ่ขึ้น 95 kWh
หลายแหล่ง Confirm ครับ ทำให้มีแนวโน้มสูง ว่าจะแบตใหญ่ขึ้น นั่นหมายความว่าถ้าเราขับได้ประหยัด 120 Wh/km (ซึ่งทำได้ไม่ยาก) จะได้ระยะวิ่งถึง 791 กม. เลยทีเดียว เรียกว่าชาร์จเดียวถึงเชียงใหม่ ทำได้แน่นอน หรือถ้าขับปกติ 150 Wh/km ก็ยังจะได้ระยะ 633 กม. ก็ถือว่าเยอะอยู่ดีครับ ถ้าจริง จะเป็น Highlight ทันที
มี 7 ที่นั่งให้เลือก และ Trunk ใหญ่ขึ้น
สำหรับรุ่น 7 ที่นั่งผมเคยลองใช้ที่อเมริกาครับ เรียกว่าไม่เหมาะจะนั่งจริง ไม่สบาย หัวชนกระจก เรียกว่า 5 ที่นั่งดีแล้วครับ
เบาะหลังนั่งสบายมากขึ้น
กล้องหน้า
ในรุ่น Preproduction Model 3 HL ก็มีกล้องหน้า แต่ไม่รอดมาถึงรุ่นขายจริง สำหรับ Model Y มีโอกาสสูงที่จะมีกล้องหน้า เพราะจุดบอดของตัวรถ มากกว่า Model 3 อันนี้ต้องมาลุันกันครับ
Autopilot HW 4.0
เบาะ Bucket Seat (Performance)
ช่วงล่าง Adaptive (Performance)
ไฟหน้า Design แถบไฟยาวคล้าย Robotaxi
ไฟท้าย Design แถบไฟยาว
แบตเตอรี่ Dry process
เรื่องนี้เป็นเรื่องต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ ที่จะได้ราคาถูกลง ถ้าเป็นจริง น่าจะเป็นรุ่นที่ผลิตที่อเมริกาครับ
แบตยังคง 400V
ไม่มีกล้อง 360
Steer by Wire / เลี้ยว 4 ล้อ (โอกาสต่ำมาก ๆ)
จะเป็นระบบ Rack ไฟฟ้าแบบ Cybertruck และเลี้ยว 4 ล้อ ถ้าจริงจะทำให้ Model Y คล่องตัวขึ้นมาก ซึ่งข่าวลืออันนี้ อาจจะยากสักหน่อย เพราะเทสลายังไม่น่าจะปล่อยเทคโนโลยีของ Cybertruck ออกนอกประเทศครับ
ถ้าออกมาตามนี้จริง เรียกว่าข้อดีของ Juniper เยอะจนน่าสนใจมากเลยครับ
ตาม “ข่าวลือ” จากตลาดโลก น่าจะมาช่วง Q1 2025 ครับ และอีกสัญญาณก็คือ Refer Program ในไทยที่เพิ่มส่วนลดเป็น 34,000 บาท น่าจะเป็นการกระตุ้นตลาด และระบาย Stock ไปในตัว ดังนั้นคาดว่าเมื่อ Juniper ออกมาจริง ๆ โฉมปัจจุบัน น่าจะมีโปรอื่น ๆ ที่น่าสนใจมาอีกแน่นอน
อันนี้แล้วแต่ความสะดวกแต่ละคนเลยครับ แต่ส่วนตัวผมมองว่าเมื่อ Juniper ออกมาจะทำให้ราคามือสองถูกกดลงไปพอสมควร ดังนั้นการเก็บรถไว้ใช้ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะรถก็ยังคงดีมาก และยังใช้ได้อีกนาน แต่ถ้าราคาขายต่อไม่ใช่ประเด็น และข้อดีของ Juniper มันดีมากพอ ก็สามารถเปลี่ยนได้เช่นกันครับ อยู่ที่ความชอบ และพร้อมของแต่ละคนได้เลย
แต่ส่วนตัวผมเห็นว่า ถึง Juniper จะมีการอัพเดทหลายอย่างขึ้นก็จริง แต่ก็ยังไม่ได้ Break Through อะไรเท่าไรในด้านเทคโนโลยี หรืออาจจะรอ HW5 / Ai5 หรือแบต 800V เลยก็เป็นทางเลือกหนึ่งครับ
แน่นอนครับว่า Juniper ต้องดีขึ้นแน่ ๆ แต่รุ่นเก่า ก็คุ้มแน่ ๆ และใช้ได้ยาว ๆ ไม่แพ้รุ่นใหม่เช่นกัน
ดังนั้นหากไม่มีปัญหาเรื่องราคา หรือความจำเป็นต้องใช้รถ และอยากได้ความสดใหม่ ก็อยากให้รอครับ เพราะจะได้เทคโนโลยีล่าสุด หรือถ้าโอเคกับข้อดีของตัวปัจจุบัน และอยากได้ความคุ้มค่า การรอซื้อรุ่นโฉมปัจจุบันก็จะคุ้มมาก ๆ จะได้ราคามือ 1 ที่เป็น Stock Inventory ที่ถูกกว่าเดิมมาก หรือจะซื้อมือ 2 ก็ยิ่งถูกลงไปอีก เรียกว่าคุ้มกับคุ้ม
Juniper นั้นดีแน่ ๆ แต่รุ่นเก่า ก็คุ้มแน่ ๆ และใช้ได้ยาว ๆ ไม่แพ้รุ่นใหม่เช่นกัน ดังนั้นหากไม่มีปัญหาเรื่องราคา หรือความจำเป็นต้องใช้รถ และอยากได้ความสดใหม่ ก็อยากให้รอครับ หรือถ้าโอเคกับข้อดีของตัวปัจจุบัน และอยากได้ความคุ้มค่า การรอซื้อรุ่นโฉมปัจจุบันก็จะคุ้มมาก ๆ จะได้ราคามือ 1 ที่เป็น Stock Inventory ที่ถูกกว่าเดิมมาก หรือจะซื้อมือ 2 ก็ยิ่งถูกลงไปอีก เรียกว่าคุ้มกับคุ้ม
ระหว่างนี้ยังมีเวลา อาจจะต้องพิจารณาดูครับ ว่าไปทางไหนเหมาะกับเราที่สุด
แต่ถ้าหากมีแผนจะซื้อเทสลาในช่วงนี้ Model 3 / Y ก็ตาม และอยากสนับสนุนเพจ สามารถใช้ส่วนลด 34,000 บาท จาก Refer Link นี้ได้ครับ https://ts.la/chanon148398
หรือถ้ามีคำถาม ข้อปรึกษาเกี่ยวกับเทสลา หรืออยากคุยเล่น ทัก DM มาได้เช่นกัน
สุดท้าย หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้ข้อมูลในการตัดสินใจซื้อ Model Y / Tesla ได้มากขึ้นนะครับ
สวัสดีครับ